นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เปิดเผยว่า กรมฯได้ดำเนินการจัดโครงการ “เชื่อมโยงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ (Angel Fund)” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 โดยมุ่งเป้าพัฒนาและส่งเสริมสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Technology) เพื่อให้มีขีดความสามารถที่สูงขึ้น และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ด้วยการใช้นวัตกรรมหรือองค์ความรู้ในอุตสาหกรรม ช่วยลดการนำเข้านวัตกรรมจากต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 150 ล้านบาท
สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ (Startup) เพื่อเข้าร่วมโครงการแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ผู้ประกอบการในระยะเริ่มต้น (Early stage) ได้แก่ ผู้ประกอบการ หรือผู้สนใจทั่วไป ที่มีแนวคิดหรือสิ่งประดิษฐ์เชิงนวัตกรรม ที่ต้องการเงินสนับสนุนแบบให้เปล่า เพื่อสร้างหรือพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ออกสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งในปีนี้ มีบริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมเป็นผู้ให้การสนับสนุน หรือ Angel เพิ่มเติมจากปีที่ผ่านมา ซึ่งมีทีมที่ผ่านการคัดเลือกจากโครงการ Angel Fund แล้วจำนวน 50 ทีม
ผู้ประกอบการระยะเติบโต (Growth stage) ประเภทวิสาหกิจเริ่มต้นที่จดทะเบียนพาณิชย์ตามกฎหมายไทย มีผลิตภัณฑ์หรือบริการ หรือนวัตกรรมในรูปแบบธุรกิจ ที่พร้อมจะเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ (Exponential growth) และมีเป้าหมายหลักในการขยายตลาดและมีโอกาสได้รับทุนสนับสนุนจาก VC/CVC ผ่านโครงการ Startup Connect ของกรมในอนาคตต่อไป
กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การดำเนินงานของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ขานรับนโยบายรัฐบาล ที่มุ่งปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศ ให้ก้าวสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมนวัตกรรม จึงมอบหมายให้ DIPROM เร่งขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการและพัฒนาสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่อง ให้สามารถนำทักษะและองค์ความรู้ไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการภายใต้โครงการ Angel Fund ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จำนวน 158 ทีม รวมมูลค่ากว่า 16.16 ล้านบาท และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสูงถึง 500 ล้านบาท
นายณัฐพล กล่าวอีกว่า เพื่อให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ มีศักยภาพและความพร้อมสำหรับการนำเสนอโมเดลธุรกิจต่อบริษัทเอกชนผู้ให้ทุนสนับสนุนนั้น กสอ. ได้จัดกิจกรรม “บ่มเพาะทักษะทางธุรกิจอย่างเข้มข้น” (Business camp) เพื่อถ่ายทอดการเรียนรู้ในภาคปฏิบัติเกี่ยวกับการนำเสนอแผนธุรกิจ ที่สามารถนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่ได้พัฒนาขึ้น โดยกิจกรรมดังกล่าวจะช่วยพัฒนาและสร้างทักษะ 6 ขั้นทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่แหล่งเงินทุนคุณภาพ ประกอบด้วย
ทักษะความเข้าใจผู้บริโภค (Customer - Centric Design) ทักษะการวางองค์ประกอบทางธุรกิจ (Business Model Canvas) การทดสอบตลาด (Market Validation) ความรู้สำหรับการจดสิทธิบัตรเพื่อเพิ่มมูลค่าธุรกิจเชิงนวัตกรรม (IP) การประเมินมูลค่าทางธุรกิจ และการนำเสนองานเพื่อให้เกิดการตัดสินใจร่วมลงทุน
อย่างไรก็ดี กสอ. มีนโยบายที่พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการในทุกระยะของการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่ผู้ประกอบการที่มีแนวคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม แต่ยังขาดองค์ความรู้ หรือผู้ประกอบการที่มีความพร้อมต้องการความช่วยเหลือในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนคุณภาพ ซึ่งเป็นนโยบายพิเศษเพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมไปสู่ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพความพร้อม เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย โดยตั้งเป้าว่าหลังจากพัฒนากลุ่มสตาร์ทอัพเพิ่มเติมได้ในช่วงปลายปี จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เพิ่มได้อีกเท่าตัว และมีความมั่นคงในเชิงของการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีศักยภาพสูงขึ้น อีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :