นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้รับความไว้วางใจให้เข้าไปดำเนินโครงการก่อสร้างขยายความกว้างทางวิ่งและเสริมทางวิ่ง พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน ท่าอากาศยานจังหวัดลำปาง ให้เป็นไปตามมาตราฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO รองรับอากาศยานแบบ B737 A320 รวมมูลค่าโครงการกว่า 229 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างชั้นทางด้านข้างส่วนขยายใหม่ และเสริมผิวทางวิ่งเดิมที่เสื่อมสภาพ เพื่อยืดอายุการใช้งานในคราวเดียวกัน โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 700 วัน
การได้รับคัดเลือกให้ดำเนินโครงการดังกล่าว ทำให้แบ็กล็อกในกลุ่มงานปรับปรุงท่าอากาศยานของกลุ่มบริษัทฯ มีมูลค่ารวมกว่า 1,000 ล้านบาท โดยมั่นใจว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยในปี 2564 ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐในหลายโครงการ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางศรษฐกิจและช่วยยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ โดยการพัฒนาปรับปรุงท่าอากาศยาน เป็นหนึ่งในโครงการเป้าหมายที่ภาครัฐต้องการพัฒนาการให้บริการท่าอากาศยานในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศให้ดีขึ้น รองรับการคมนาคมและการขนส่งสินค้าทางอากาศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
ที่ผ่านมา CIVIL ได้ดำเนินการก่อสร้างและซ่อมบำรุง ทางวิ่ง ลานจอดเครื่องบิน งานอาคาร ระบบไฟฟ้าและระบบประปาท่าอากาศยานในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน CIVIL อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการปรับปรุงงานท่าอากาศยานจังหวัดตรัง ระนอง และประจวบคีรีขันธ์
นอกจากนี้ ยังร่วมงานกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่1กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ระยะทาง 250.77 กิโลเมตร โดย CIVIL จะเข้าไปพัฒนาโครงการส่วนงานภายใต้สัญญา 4-7 งานโยธาสำหรับช่วงสระบุรี-แก่งคอย ประกอบด้วย งานโครงสร้างทางรถไฟเป็นทางยกระดับรวม 12.99 กิโลเมตร งานสถานีสระบุรี ศูนย์ซ่อมบำรุงทาง 1 แห่ง งานอาคารและสิ่งปลูกสร้างรองรับรถไฟฟ้าและงานรื้อย้ายต่างๆ รวมมูลค่างานก่อสร้างทั้งสิ้น 8,560 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 1,080 วัน โดย CIVIL ได้นำหลักการบริการจัดการและฐานความรู้ ที่ไ่ด้จากงานก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา สัญญาที่ 2-1 ช่วงสีคิ้ว - กุดจิก มาช่วยเสริมศักยภาพ
สำหรับโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค กรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ในส่วนสัญญาที่ 4-7 ถือเป็นสัญญาที่ 2 ของ CIVIL ได้เข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาระบบรางเพื่อขับเคลื่อนแของประเทศด้านคมนาคม ต่อจากโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา สัญญาที่ 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ที่ปัจจุบันมีการก่อสร้างยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้และคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง