กนอ.ดันนิคมฯ-โรงงาน 6 แห่งสู่ “Smart Eco”

25 มี.ค. 2564 | 05:40 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มี.ค. 2564 | 12:46 น.

กนอ.ดันนิคมฯ-โรงงาน 6 แห่งสู่การเป็น “Smart Eco” ภายในปีนี้

นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. ได้ดำเนินโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรม/โรงงานอุตสาหกรรม สู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ (IEAT 4.0 : Smart Eco Industrial Estate) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมที่นำร่องสู่การเป็น Smart Eco ในปี 2564 ประกอบด้วย

              1. นิคมอุตสาหกรรมหนองแค ได้นำระบบที่มีการใช้งานด้าน Smart IT  (ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอัจฉริยะ)  โดยใช้ Supervisory Control and Data Acquisition (SCADA)  เพื่อเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ตรวจวัดและควบคุมการทำงานของเครื่องจักรหรือระบบการผลิต ตรวจสอบสถานะและควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ แบบ Real-time เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบรวบรวมน้ำเสีย รวมทั้งระบบการส่งข้อมูลเพื่อตรวจสอบ เก็บข้อมูล สำหรับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับข้อมูลการให้บริการระบบสาธารณูปโภค

              2. นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์น ซีบอร์ด ได้นำระบบที่มีการใช้งานด้าน Smart Logistic (ระบบขนส่งอัจฉริยะ) โดยพัฒนาระบบกล้อง CCTV ให้สามารถประมวลผลได้แบบ Real time เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลการจราจรบริเวณนิคมฯ ไปยัง Mobile Application ของผู้ประกอบการและประชาชน ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลการจราจรได้อย่างต่อเนื่องและเป็นปัจจุบัน

              3.ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้นำระบบที่มีการใช้งานด้าน Smart Building (การพัฒนาอาคารอัจฉริยะ) เป็นการบริหารจัดการพลังงาน โดยติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัด (Sensor) ที่อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคาร และมาตรอัจฉริยะที่เชื่อมโยงระบบควบคุมการทำงานของอุปกรณ์งานไฟฟ้าอัตโนมัติ

สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

              นอกจากนี้ ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมที่นำระบบการใช้งานด้านการจัดการสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วอัจฉริยะ (Smart Waste) อีก 2 แห่ง โดยทั้ง 2 โรงงานนี้ ได้จัดทำระบบฐานข้อมูลของเสียและแผนผังการไหลของเสีย (Waste Profile and Waste Flow Diagram) เพื่อคาดการณ์ปริมาณของเสียประเภทต่างๆ และสร้างเครือข่ายทางธุรกิจในการเชื่อมโยงหรือแลกเปลี่ยนนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) รวมทั้งเชื่อมโยงระบบการติดตามเส้นทางการขนส่งของเสียของผู้รับบริการขนส่งแบบ Real Time เพื่อการตรวจสอบและควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมาย

              “สิ่งที่เห็นได้ชัดสำหรับเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ คือการออกแบบที่ไม่ได้เน้นเฉพาะการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียวแต่ยังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย เพื่อให้เกิดความร่วมมือและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน รวมทั้งสร้างเครือข่ายการทำงานที่ก่อให้เกิดความสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นการลดปัญหาการเกิดมลพิษสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development: SD)

              นางสาวสมจิณณ์ กล่าวต่อไปอีกว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อยกระดับนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ ภายใต้นโยบายรัฐบาล Thailand 4.0 และ Industry 4.0 ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดย กนอ.ได้กำหนดเกณฑ์การเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะโดยมีองค์ประกอบ 8 ด้าน ได้แก่ 1. Smart Environment Surveillance ระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยอัจฉริยะ

,2.Smart Water ระบบการจัดการน้ำอัจฉริยะ ,3.Smart Energy ระบบการจัดการพลังงานอัจฉริยะ ,4.Smart Waste ระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วอัจฉริยะ ,5.Smart Safety/Emergency ระบบป้องกันด้านความปลอดภัยอัจฉริยะ ,6.Smart Logistic ระบบขนส่งอัจฉริยะ ,7.Smart IT ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอัจฉริยะ และ 8.Smart Building อาคารอัจฉริยะ (สำหรับนิคมอุตสาหกรรม) หรือ Smart Resource/Process กระบวนการผลิตอัจฉริยะ (สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม)

องค์ประกอบเหล่านี้ ในการดำเนินงานจะสามารถทราบข้อมูลการใช้งานในด้านต่างๆ แบบ real-time ตัวอย่างเช่น การใช้ไฟฟ้า หรือน้ำประปา ของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม และสามารถส่งข้อมูลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทราบว่าโรงงานแต่ละโรงกำลังใช้ไฟฟ้าหรือน้ำประปามากน้อยเท่าไหร่ และจะนำไปสู่การจูงใจให้ร่วมกันประหยัดพลังงาน รวมถึงยังออกบิลค่าไฟฟ้าและน้ำประปาได้ทันทีโดยไม่ต้องมีพนักงานออกจดหน่วยไฟฟ้าที่ใช้จากหน้ามิเตอร์ เป็นต้น

ซึ่งการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ เหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การจัดการด้านความปลอดภัย รวมทั้งจัดการระบบขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การต่อยอดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :