นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ หรือ สตาร์ทอัพ (Startup) ที่ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 2,000 ราย ให้มีทักษะทางธุรกิจเพื่อการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ซึ่งพบว่าอุปสรรคของการเติบโตของสตาร์ทอัพ คือ ปัญหาด้านต้นทุนของธุรกิจ ทั้งต้นทุนในเชิงทักษะทางธุรกิจและต้นทุนในเชิงจำนวนเงิน
ทั้งนี้ จึงได้จัดกิจกรรมเชื่อมโยงตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ Startup Connect ในประเภทอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงโดยอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง หรือ อุตสาหกรรม ดีพเทค (Deep Technology) สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดนวัตกรรม เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนคุณภาพจากบริษัทเอกชนชั้นนำที่สนใจลงทุน (CVC) ในการต่อยอดธุรกิจ โดยมีจำนวนผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมทักษะและการพัฒนาโมเดลธุรกิจ จำนวน 25 ทีม คาดว่าจะเกิดความร่วมมือทางธุรกิจผ่านการสนับสนุนเงินทุนกว่า 500 ล้านบาท
สำหรับกลยุทธ์ในการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการสตาร์ทอัพใช้กลไกการเชื่อมโยงธุรกิจเพื่อส่งเสริมเงินทุนและการตลาด ในการสนับสนุนให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จ ซึ่งประกอบด้วย 4 แนวทาง ได้แก่ การขยายเครือข่ายสตาร์ทอัพ เพื่อเฟ้นหาสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพ มาบ่มเพาะให้มีความพร้อมในการนำเสนอโมเดลธุรกิจกับนักลงทุน การขยายเครือข่ายเงินทุน โดยการสร้างเครือข่ายกับบริษัทเอกชนที่มีศักยภาพ และสนใจร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่ได้รับการบ่มเพาะ เพื่อสร้างความมั่นใจในการร่วมดำเนินธุรกิจ การขยายเครือข่ายตลาด
โดยส่งเสริมให้หน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม หรือเครือข่ายนำโซลูชั่นของสตาร์ทอัพไปใช้งานจริง เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพและนวัตกรรมของไทยและการขยายเครือข่ายนานาชาติ เพื่อต่อยอดไปยังตลาดที่มีมูลค่าสูงขึ้น รองรับความต้องการจากต่างประเทศ
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดี ดีพร้อม กล่าวว่า ดีพร้อม ดำเนินกิจกรรมเชื่อมโยงตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น คัดเลือกผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ 25 ทีม จากจำนวนผู้สมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 100 ทีม ดำเนินการบ่มเพาะความรู้ด้านธุรกิจอย่างเข้มข้นจากผู้เชี่ยวชาญ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา และจัดกิจกรรมการจับคู่เจรจาธุรกิจ เพื่อส่งเสริมการตลาด (Business Matching) สนับสนุนให้สตาร์ทอัพที่มีศักยภาพมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนคุณภาพและสามารถต่อยอดธุรกิจในตลาดใหม่ เพิ่มโอกาสในการขยายฐานตลาดไปยังต่างประเทศ
โดย ดีพร้อม มุ่งเน้นคัดเลือกผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ 4 สาขา ที่มีแนวโน้มเติบโตสูงในตลาดโลก ได้แก่ สาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (Industrial Tech) สาขาเทคโนโลยีการแพทย์ (Medical Tech) สาขาเทคโนโลยีการเงิน (Fin Tech) และสาขาไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Tech) ซึ่งมีนวัตกรรมที่น่าสนใจ อาทิ นวัตกรรมแพลตฟอร์มวินิจฉัยปัญหาและควบคุมระบบปรับอากาศแบบอัจฉริยะที่สามารถประหยัดพลังงานได้ไม่น้อยกว่า 20% นวัตกรรมระบบเก็บข้อมูลหมายเลขทะเบียนรถยนต์และรถบรรทุก แบบอัตโนมัติผ่านระบบ AI
และกล้อง CCTV นวัตกรรมช่องทางการรับชำระเงินที่หลากหลาย (Payment Gateway) พร้อมระบบจัดเก็บข้อมูลเพื่อการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM Feature Subscription) นวัตกรรมเครื่องช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสฟื้นตัวได้ดีกว่าวิธีการกายภาพบำบัดและนวัตกรรมระบบบำบัดน้ำเสียที่ใช้จุลินทรีย์สายพันธุ์พิเศษเปลี่ยนน้ำเสีย ให้เป็นกระแสไฟฟ้า (BioCircuit) เป็นต้น
“นวัตกรรมที่ผ่านการคัดเลือกและบ่มเพาะส่วนใหญ่ อยู่ในรูปแบบแพลตฟอร์ม ที่เกิดขึ้นจากการกำหนดปัญหาเป็นมูลเหตุ ต่อยอดพัฒนาเป็นนวัตกรรม โดยผนวกองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของ ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทย โดย ดีพร้อม พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีศักยภาพในการต่อยอดนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ และเป็นตัวกลางเชื่อมโยงสู่แหล่งเงินทุนคุณภาพ เพิ่มอัตราการอยู่รอดของธุรกิจใหม่ และสนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมในอนาคต”
อย่างไรก็ดี โครงการเชื่อมโยงตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้นช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจการส่งเสริม สนับสนุน ผู้ประกอบการให้มีสมรรถนะและขีดความสามารถในการประกอบการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :