วิ่งฉิวขับรถ 120 กม. ทล.-ทช.นำร่องถนนสายเอเชีย สายบางปะอิน-ต่างระดับอ่างทอง

01 เม.ย. 2564 | 10:53 น.

เริ่มแล้ว "คมนาคม" เดินหน้าใช้ความเร็ว 120 กม./ชม.นำร่องถนนสายเอเชีย 32 ด้านทล.-ทช.เล็งเปิด 20 เส้นทางใหม่เฟส 2 หวังครอบคลุม 4 ภาค เริ่ม ส.ค.นี้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในฐานะประธานในพิธีเริ่มต้นใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (ช่วงหมวดทางหลวงบางปะอิน-ทางต่างระดับอ่างทอง) ว่า กระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายการปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์ จากความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เฉพาะถนนที่ได้มาตรฐานตามที่กฎกระทรวงกำหนด มีช่องจราจรตั้งแต่ 4 ช่องขึ้นไป ไม่มีจุดกลับรถระดับราบ มีเกาะกลางถนนแบบกำแพงกั้น และมีความปลอดภัยด้านวิศวกรรมสูง โดยที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้เตรียมการนโยบายนี้มาอย่างต่อเนื่อง จนเป็นผลสำเร็จ และประกาศกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วฉบับใหม่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยเส้นทางแรกที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คือ ทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชีย ช่วงหมวดทางหลวงบางปะอิน ถึง ทางต่างระดับอ่างทอง เพื่อให้ผู้ขับขี่ได้ใช้อัตราความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ที่สำคัญคือ มีความปลอดภัยสูง โดยกระทรวงคมนาคมยังได้สั่งการและเน้นย้ำให้กรมทางหลวงปรับปรุงเพิ่มมาตรฐานทางกายภาพให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ได้แก่ เสริมการก่อสร้างอุปกรณ์ป้องกันด้านข้างทาง (Concrete Barrier) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงเนื่องจากการเสียหลักตกเกาะกลาง ปรับปรุงจุดกลับรถระดับราบ เพื่อลดการตัดกันของกระแสจราจร ติดตั้งป้ายจราจรและป้ายเปลี่ยนข้อความได้เพื่อสื่อสารการใช้ความเร็วที่เหมาะสมในแต่ละช่องจราจร รวมทั้งติดตั้งแถบเตือน Rumble Strips เพื่อแจ้งจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดการเข้าเขตควบคุมความเร็ว โดยเส้นทางนี้ ถือเป็น “ต้นแบบ” ของทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบท

วิ่งฉิวขับรถ 120 กม. ทล.-ทช.นำร่องถนนสายเอเชีย สายบางปะอิน-ต่างระดับอ่างทอง

นอกจากนี้ ทล.มีแผนจะประกาศสายทางอื่นในการใช้ความเร็ว 120 กม./ชม. ระยะที่ 2 ภายใน ส.ค. 2564 ครอบคลุมเส้นทางในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) และภาคใต้ จำนวน 14 สายทาง ระยะทางประมาณ 261.94 กม. ประกอบด้วย 1.ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงหางน้ำหนองแขม-บ้านหว้า-วังไผ่ ระยะทาง 25.27 กม. 2.ทางหลวงหมายเลข 2 ช่วงบ่อทาง-มอจะบก ระยะทาง 14.8 กม. 3.ทางหลวงหมายเลข 32 ช่วงอ่างทอง-ไชโย-สิงห์ใต้-สิงห์เหนือ-โพนางดำออก ระยะทาง 63 กม. 4.ทางหลวงหมายเลข 347 ช่วงเทคโนโลยีปทุมธานี-ต่างระดับเชียงรากน้อย ระยะทาง 10 กม. 5.ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงหนองแค-หินกอง-ปากข้าวสาร-แยกสวนพฤกษศาสตร์พุแค ระยะทาง 26 กม.

 

6.ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงประตูน้ำพระอินทร์-หนองแค ระยะทาง 27.18 กม. 7.ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงต่างระดับคลองหลวง-ประตูน้ำพระอินทร์ ระยะทาง 6.82 กม. 8.ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงสนามกีฬาธูปะเตมีย์-ต่างระดับคลองหลวง-ประตูน้ำพระอินทร์ ระยะทาง 11 กม. 9.ทางหลวงหมายเลข 304 ช่วงคลองหลวงแพ่ง-ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 11 กม. 10.ทางหลวงหมายเลข 34 ช่วงบางนา-ทางเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภมิ ระยะทาง 15 กม. 11.ทางหลวงหมายเลข 9 ช่วงบางแค-คลองมหาสวัสดิ์ ระยะทาง 9.87 กม. 12.ทางหลวงหมายเลข 35 ช่วงนาโคก-แพรกหนามแดง ระยะทาง 24.6 กม. 13.ทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงเขาวัง-สระพระ ระยะทาง 6.9 กม. และ 14.ทางหลวงหมายเลข 4 ช่วงเขาวัง-สระพระ ระยะทาง 11.5 กม.

 

ทั้งนี้ ทล.จะดำเนินการต่อเนื่องเพิ่มเติม ทั้งการปรับปรุงถนนบนทางหลวงสายหลัก พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยต่างๆ จำนวน 5 สายทาง ระยะทางประมาณ 1,761 กม. โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ ธ.ค. 2564 เป็นต้นไป ก่อนที่จะเปิดให้วิ่งใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. ต่อไป ประกอบด้วย 1.ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงหางน้ำหนองแขม-กลางสะพานแม่น้ำสาย (เขตแดนไทย/เมียนมา) ตั้งแต่ จ.อุทัยธานี-เชียงราย ระยะทาง 585.7 กม. 2.ทางหลวงหมายเลข 2 ช่วงสระบุรี-สะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 (เขตแดนไทย/ลาว) ตั้งแต่ จ.สระบุรี-หนองคาย ระยะทาง 495.4 กม. 3.ทางหลวงหมายเลข 24 ช่วงท่งต่างระดับสีคิ้ว-อุบลราชธานี ตั้งแต่จ.นครราชสีมา-อุบลราชธานี ระยะทาง 419.8 กม. 4.ทางหลวงหมายเลข 340 ช่วงบางบัวทอง-ชัยนาถ ตั้งแต่ จ.นนทบุรี-สุพรรณบุรี-ชัยนาถ ระยะทาง 164.2 กม. และ 5.ทางหลวงหมายเลข 44 ช่วงอ่าวลึก-หินโงก ตั้งแต่ จ.ภูเก็ต-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 96 กม.

 

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า กรมทางหลวงได้คัดเลือกเส้นทางนำร่อง ประกอบด้วย ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 บางปะอิน - พยุหะคีรี (ช่วงอยุธยา – อ่างทอง) ระหว่าง กม. 4+100 ถึง กม. 50+000 ทั้งขาเข้าและขาออก ระยะทาง 45.9 กิโลเมตร แบ่งการใช้ความเร็วเป็น 3 ระดับ คือ ช่องซ้ายสุด ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ช่องกลางไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยในช่องขวาขับขี่ไม่ต่ำกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อให้ผู้ขับขี่ที่ใช้ความเร็วแตกต่างกันในเส้นทาง ใช้ทางสาธารณะร่วมกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นเส้นทางแรก. ทั้งนี้ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องหมายจราจรต่าง ๆ ในเส้นทางที่กำหนด เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้ทาง เช่น ติดตั้งสัญลักษณ์กำหนดความเร็วบนพื้นถนน รวมทั้งติดตั้งกล้องวงจรปิดและอุปกรณ์ตรวจจับความเร็ว

 

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า สายทางที่ ทช. คาดว่าจะสามารถดำเนินการตามนโยบาย 120 กม./ชม. ในปี 2564 มี 6 สายทาง ประกอบด้วย 1.ถนนราชพฤกษ์​ ระยะทาง 25.2 กม. งบประมาณ 167 ล้านบาท 2.ถนนนครอินทร์ ระยะทาง 12.4 กม. งบประมาณ​ 84 ล้านบาท 3.ถนนชัยพฤกษ์​ ระยะทาง 11.1 กม. งบประมาณ 44 ล้านบาท 4.แยกทางหลวงหมายเลข 7 (กม.ที่ 80+600)-บ้านหนองกระเสริม ระยะทาง 4.98 กม. งบประมาณ 24 ล้านบาท 5.แยกทางหลวงหมายเลข 3 (กม.ที่ 192+772)-นิคมอุตสาหกรรม​มาบตาพุด ระยะทาง 7.47 กม. งบประมาณ 47 ล้านบาท และ 6.ถนนโสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ระยะทาง 26.1 กม. งบประมาณ 107 ล้านบาท

 

สำหรับ 2 สายทาง จาก 6 สายทางดังกล่าวข้างต้น ได้แก่ 1.ถนนราชพฤกษ์ และ 2.ถนนนครอินทร์ จะขอสนับสนุน​งบประมาณจาก กปถ. ซึ่งในวันที่ 2 เม.ย.นี้ ทาง ทช. และ ทล. จะเข้าไปหารือร่วมกับ กปถ.เพื่อขอใช้งบประมาณดังกล่าว และยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะได้งบประมาณตามที่เสนอขอไปหรือไป ส่วนเส้นทางที่เหลือต้องมาพิจารณา​ว่าจะหาแหล่งเงินจากทางใด เพื่อมาปรับปรุง​ถนนดังกล่าวในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะหารือเรื่องงบประมาณกับ กปถ. สรุปจบภายใน 2 เดือน หลังจากนั้นคาดว่าจะใช้เวลาในการติดตั้งป้ายแจ้งเตือนต่างๆ แล้วเสร็จ​ครบทั้ง 6 สายทาง ภายใน 6 เดือน และคาดว่าจะเปิดใหบริการได้ภายใน ธ.ค. 2564