สภาอุตฯลุยต่อ “วัคซีนทางเลือก” ลั่น“เหลือดีกว่าขาด”

01 พ.ค. 2564 | 09:10 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ค. 2564 | 08:21 น.

สภาอุตสาหกรรมฯ สั่งลุยต่อร่วมบริษัทฯ-โรงพยาบาลเอกชนจัดหาวัคซีนทางเลือก ห่วงรัฐจัดหาไม่ได้ตามแผน กระทบเศรษฐกิจฟื้นตัว ชี้วัคซีนเหลือดีกว่าขาด ยกตัวอย่างอังกฤษตุนวัคซีนมากกว่า 3 เท่าของประชากร

แม้นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจะตีความคำพูดนายกรัฐมนตรีหลังประชุมร่วมหอการค้าไทย เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา โดยได้ออกประกาศระบุนายกรัฐมนตรีได้แสดงความขอบคุณที่หอการค้าไทยและภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมเสริมการทำงานของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความพยายามในการจัดหาวัคซีนทางเลือกเพื่อฉีดให้กับพนักงานของตัวเองเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้แจ้งว่าปริมาณวัคซีนที่ภาครัฐจัดหามานั้น(100 ล้านโดส)มีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนทุกคน พร้อมเร่งดำเนินการในการนำเข้าวัคซีน ซึ่งกำลังทยอยเข้ามาเป็นลำดับ ดังนั้นภาคเอกชนจึงไม่จำเป็นต้องมีการจัดหามาเพิ่มเติม และจะได้ไม่เป็นภาระในเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งภาคเอกชนต่างก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 อยู่แล้ว  ดังนั้นหอการค้าไทยจึงปิดการรับแจ้งความประสงค์ของบริษัทเอกชนที่ต้องการวัคซีนทางเลือก โดยจะรวบรวบข้อมูลที่แจ้งมาก่อนหน้านี้ส่งต่อให้กับภาครัฐเพื่อเป็นข้อมูลในการจัดลำดับการฉีดวัคซีนที่ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละพื้นที่ หรือประชาชนในกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ต่อไป หากตีความตามนี้ในส่วนหอการค้าไทยได้ส่งสัญญาณสมาชิกไม่ต้องช่วยรัฐจัดหาวัคซีนทางเลือกอีกต่อไปแล้ว

ขณะที่ในการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)บ่ายวันเดียวกัน ฝั่งของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)อีกหนึ่งสถาบันเอกชนที่ใหญ่ไม่แพ้กันได้ตีความต่างออกไป โดยนายสุพันธุ์  มงคลสุธี ประธานส.อ.ท.ได้ออกสารจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ใจความสำคัญระบุว่า จากการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2564 นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณเอกชนที่ร่วมแสดงเจตจำนงในการจัดหาวัคซีนเพิ่ม โดยทางรัฐบาลจะเร่งจัดหาวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดส เพื่อให้เพียงพอกับคนไทย และในเดือนพ.ค.จะมีวัคซีนเพิ่มเข้ามาอีกแน่นอน ซึ่งรัฐบาลย้ำว่าได้เปิดกว้างให้ภาคเอกชนนำเข้าวัคซีนมาได้ภายใต้กฎเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข

หากตีความในความเห็นของส.อ.ท.คือเอกชนยังสามารถจัดหา และนำเข้าวัคซีนทางเลือกเข้ามาได้นอกเหนือจาก 100 ล้านโดสที่รัฐบาลประกาศจะจัดหาให้ได้ภายในปีนี้ โดยทางสภาอุตสาหกรรมฯจะทำหน้าที่ประสานกับกับภาคเอกชนที่จะนำเข้าวัคซีนรวมทั้งสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และยังเชิญชวนให้ภาคเอกชนที่มีความต้องการเร่งด่วนในการจัดซื้อเพื่อฉีดวัคซีนให้กับพนักงานเอง ให้แจ้งความต้องการที่เว็บไซต์ของสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่อได้ดำเนินการประสานการฉีดวัคซีนกับภาคเอกชนที่นำเข้าวัคซีนโดยเร็ว

สภาอุตฯลุยต่อ “วัคซีนทางเลือก” ลั่น“เหลือดีกว่าขาด”

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล  รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เรื่องจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมนี้ ทางส.อ.ท.ได้เดินหน้าไปมาก และยังยินดีช่วยสนับสนุนรัฐบาลในการจัดหาคงไม่ได้ถึงกับหยุด แต่ที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศจะเร่งจัดหาวัคซีนให้ครบ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ อย่างน้อยก็ถือเป็นข่าวดีในระดับหนึ่ง ที่ภาคเอกชนได้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาล แต่ภาคเอกขนก็ยังเป็นห่วงว่า การได้วัคซีนมาจนถึงสิ้นปีนี้  จะได้มาเร็วแค่ไหน ได้แน่นอนครบตามเป้าหมายหรือไม่  จำนวนในแต่ละเดือนเป็นอย่างไร เพียงพอกับความต้องการหรือไม่ และจะเร่งฉีดได้เร็วแค่ไหน ทันกับเวลาที่ตั้งไว้หรือไม่

“วัคซีนยิ่งนำเข้ามาได้เร็ว และมีจำนวนมากอย่างเพียงพอก็ยิ่งดี เพราะประเทศที่ประสบความสำเร็จในการฉีดวัคซีนไปได้มากเวลานี้ อาทิ สหรัฐฯ อิสราเอล ยูเค(อังกฤษ) เป็นต้น จะเห็นได้ว่าการติดเชื้อหรือการระบาดในแต่ละวันของประเทศเหล่านี้ลดลงอย่างฮวบฮาบ สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการที่จะออกมาใช้ชีวิต  และดำเนินชีวิตตามปกติ จะส่งผลทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และกิจกรรมทางสังคมทุกอย่างค่อย ๆ ฟื้นตัว”

อย่างไรก็ดีในส่วนของประเทศไทยเวลานี้การระบาดของเชื้อโควิดค่อนข้างสูง มีผู้ติดเชื้อต่อวันจำนวนมาก และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นรายวัน ส่งผลให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก แทบไม่กล้าออกจากบ้านหากไม่จำเป็น เพราะครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุน้อยลง ความรุนแรงของโรคลงปอด และขณะนี้มีผู้ป่วยหนักที่อยู่ในห้องไอซียูมีจำนวนมากที่ต้องใช้เครื่องหายใจ

“สหรัฐฯเป็นตัวอย่างที่ดีมาก เพราะการเร่งระดมฉีดวัคซีนตามที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้ประกาศนโยบายเร่งด่วนใน 100 วันของการเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งทำได้ดีเกินคาดโดย 100 วันฉีดได้กว่า 220 ล้านโดส และขณะนี้ยังได้ระดมฉีดต่ออีก 100 ล้านโดส อีกไม่นานสหรัฐฯจะเป็นประเทศที่มีการฉีดวัคซีนครอบคลุม 60-70% ของจำนวนประชากร จนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เขาก็จะเกิดความมั่นใจ เศรษฐกิจของสหรัฐก็จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และยังมีงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านการอนุมัติของสภาคองเกรสแล้วจำนวนมหาศาลถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯกลับมาเฟื่องฟู และจีดีพีในปีนี้คาดว่าจะเติบโตสูงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา”

สภาอุตฯลุยต่อ “วัคซีนทางเลือก” ลั่น“เหลือดีกว่าขาด”

ขณะที่ประเทศอังกฤษที่มีประชากรใกล้เคียงกับไทย วันนี้สามารถระดมการฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็วจนได้เปอร์เซ็นต์สูงมาก(กว่า 32% ของประชากร) ทำให้ ยอดการติดเชื้อลดลงอย่างฮวบฮาบ สิ่งที่สำคัญกว่านี้คืออังกฤษยังมีตุนวัคซีนจากหลายยี่ห้อ นอกจากแอสตราเซเนกาที่เป็นของอังกฤษเองแล้วยังอีกหลายยี่ห้อตุนอยู่ในสต๊อกอีกกว่า  200 ล้านโดส มากกว่าจำนวนประชากรเกือบ 3 เท่าตัว ทั้งนี้มีคนถามว่าวัคซีนมีอายุอยู่ได้แค่ 3-6 เดือน แต่ทางอังกฤษไม่สน เขาบอกเลยว่ารายจ่ายในส่วนนี้คุ้มค่ากว่าเมื่อเทียบกับความเสียหายทางเศรษฐกิจ

สภาอุตฯลุยต่อ “วัคซีนทางเลือก” ลั่น“เหลือดีกว่าขาด”

“ทุกประเทศขณะนี้เร่งการฉีด เพราะฉะนั้น สภาอุตฯเราก็ยังเป็นกำลังใจให้ภาครัฐในการจัดหาวัคซีนมาให้ทัน แต่ในขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการสำรองวัคซีน อะไรที่ภาคเอกชนมีคอนเน็กชั่นอยู่กับกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน เราก็พยายามที่จะดูให้อีกทางหนึ่ง เผื่อจะใช้คอนเนกชั่นของภาคเอกชนได้บ้าง  เอาไว้เป็นกรณีเหมือนสำรองวัคซีนไว้ เพราะแทนที่จะได้(วัคซีน) แต่ไม่ได้ อย่างน้อยมีที่สำรองไว้ก่อนเราก็มองอย่างนี้ เหลือดีกว่าขาดซึ่งบริษัทและสมาชิกของสภาอุตฯ หรือแม้กระทั่งกลุ่มอุตสาหกรรมไบโอเทค ของสภาฯ กลุ่มผลิตภัณฑ์ยา กลุ่มสมุนไพร กลุ่มคลัสเตอร์ความงามและสมุนไพรของสภาอุตฯ ก็เป็นบริษัทชั้นนำที่มีคอนเน็กชั่นและมีสายสัมพันธ์ที่สามารถติดต่อกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนทั่วโลกได้เช่นกันอยู่แล้ว”

ทั้งนี้ การจะพลิกฟื้นความเชื่อมั่น และพลิกฟื้นเศรษฐกิจมา ที่สำคัญที่สุดคือจำนวนวัคซีนที่จะต้องเพียงพอ และมาเร็ว และเร่งฉีดได้อย่างครอบคลุมประมาณ 70% ของจำนวนประชากรเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ นอกจากนี้ก็หวังว่ารัฐบาลจะเตรียมงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจก้อนใหญ่อีกก้อนหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เยียวยาประชาชนและธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งเวลานี้รัฐบาลยังมีเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินอีก 2.4 แสนล้านบาท

ส่วนรัฐบาลจะต้องใช้งบเพิ่มเติมแค่ไหนนั้นคงขึ้นกับระยะเวลาของการควบคุมการระบาด ถ้าควบคุมการระบาดได้เร็ว อาจจะเติมเงินอีกไม่มาก แต่ถ้าควบคุมไม่ได้ภายใน  3 เดือนอาจต้องเติมเงินอีกหลายแสนล้านบาท สรุปคือถ้ายิ่งช้ายิ่งใช้เงินมากขึ้น ซึ่งการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการควบคุมโรคโควิด-19เพราะหลังควบคุมโรคได้แล้ว ต้องสร้างความมั่นใจ และต้องมีเม็ดเงินในกระตุ้น เพื่อให้คนกล้าออกไปจับจ่ายใช้สอย และเม็ดเงินเพื่อให้เอสเอ็มอีมีสภาพคล่องในการกลับมาดำเนินธุรกิจใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

เบื้องลึกหอการค้าไทยสั่งถอย “วัคซีนทางเลือก”

เปิดชื่อ 14 พื้นที่ฉีดวัคซีนกทม. รับได้ 2 หมื่นคนต่อวัน

สปสช.เตรียมออกประกาศช่วยเหลือเบื้องต้น หากเกิดความเสียหายจากการรับ“วัคซีนโควิด-19”

ติดเชื้อโควิดรายวันยังพุ่ง"ชลบุรี" พบรายใหม่อีก 106 ราย ดับ 2 ราย

ยอดโควิดทั่วโลก 1 พ.ค.64 ติดเชื้อเพิ่ม 855,709 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 13,736 ราย