บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประกาศผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2564 มีรายได้รวม 41,230 ล้านบาท EBITDA 4,737 ล้านบาท มีกำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 2,284 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.59 บาท ยอดจำหน่ายผ่านตลาดน้ำมันค้าปลีกเดือนมีนาคมสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 390 ล้านลิตรต่อเดือน ในขณะที่ยอดขายน้ำมันหล่อลื่นสำเร็จรูปและแบรนด์กาแฟอินทนิลก็สามารถทำยอดขายสูงสุดในเดือนมีนาคมเช่นกัน สภาพคล่องแข็งแรง พร้อมดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนและสร้างความยั่งยืนในฐานะผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานกลุ่มบริษัทบางจากฯ ในไตรมาสแรกของปี 2564 ว่า บริษัท บางจากฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการรวม 41,230 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปีก่อน มี EBITDA 4,737 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 72 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ในไตรมาสนี้กลุ่มบริษัทฯ มี Inventory Gain 2,473 ล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ประกอบกับการวางแผนทยอยเก็บสำรองน้ำมันดีเซลไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ต้นทุนราคาน้ำมันต่ำ เพื่อนำมาจำหน่ายในช่วงที่โรงกลั่นหยุดซ่อมบำรุง ซึ่งมีกำไรจากการเก็บสำรองดังกล่าวกว่า 600 ล้านบาท ทั้งนี้ปัจจัยหนุนดังกล่าวช่วยลดผลกระทบของค่าการกลั่นพื้นฐานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ จากการที่โรงกลั่นบางจากฯ หยุดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ตามวาระ (Major Turnaround)
แม้ปริมาณการจำหน่ายรวมของธุรกิจการตลาดจะปรับลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กลับมาระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทยตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 อย่างไรก็ตามหลังจากที่การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลาย ประชาชนกลับมาเดินทางและใช้รถยนต์เพิ่มมากขึ้น ทำให้ยอดจำหน่ายผ่านตลาดค้าปลีกเดือนมีนาคม 2564 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 390 ล้านลิตรต่อเดือน และกลุ่มธุรกิจการตลาดสามารถผลักดันยอดขายน้ำมันหล่อลื่นสำเร็จรูปได้อย่างต่อเนื่องโดยมียอดจำหน่าย 8.9 ล้านลิตร ในเดือนมีนาคมซึ่งถือเป็นยอด New high ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดน้ำมันหล่อลื่นสำเร็จรูปในประเทศของบริษัทฯ เพิ่มเป็นร้อยละ 11 จากร้อยละ 9 ในปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ธุรกิจร้านกาแฟอินทนิลก็สามารถทำยอดจำหน่ายสูงสุดได้เช่นกันในเดือนมีนาคม ซึ่งร้านกาแฟอินทนิลได้รับการตอบรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการเสิร์ฟกาแฟจากเมล็ดกาแฟอาราบิก้า 100% รวมทั้งกระแสของ Inthanin Cocoa Fever โกโก้ในตำนานสุดเข้มข้น ซึ่งถือว่าเป็น hero product ของอินทนิลที่มียอดขายเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดในช่วงเดือนมกราคม
โดยในไตรมาสแรกของปี 2564 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 41,230 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปีก่อน) มี EBITDA 4,737 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 72 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและร้อยละ 286 เมื่อเทียบกับปีก่อน) และมีการบันทึกกลับรายการด้อยค่าทรัพย์สินของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำนวน 400 ล้านบาท ส่งผลให้ไตรมาสนี้มีกำไรสุทธิส่วนของบริษัทใหญ่ 2,284 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นร้อยละ 808 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 149 เมื่อเทียบกับปีก่อน) คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.59 บาท โดยมีผลการดำเนินงานในแต่ละกลุ่มธุรกิจเป็นดังนี้
1.กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน
ผลการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 302 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและเพิ่มขึ้นร้อยละ 193 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยหลักมาจากไตรมาสนี้มี Inventory Gain จำนวน 2,180 ล้านบาท โดยในไตรมาสนี้มีค่าการกลั่นพื้นฐาน 576 ล้านบาท หรือ 3.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากการที่โรงกลั่นบางจากฯ มีการการหยุดซ่อมบำรุงตามวาระ ส่งผลให้อัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยในไตรมาส 1/2564 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 64.9 พันบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 54 ของกำลังการผลิตรวม และสัดส่วนการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปที่มีมูลค่าสูงลดลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลและเบนซินลดลง
ธุรกิจการค้าน้ำมันโดยบริษัท BCP Trading Pte. Ltd. แม้จะมีธุรกรรมการซื้อขายน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันลดลง แต่กำไรขั้นต้นปรับเพิ่มขึ้น โดยหลักมาจากผลิตภัณฑ์กลุ่มน้ำมันเตาเกรดกำมะถันต่ำและน้ำมันเบนซิน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย
2.กลุ่มธุรกิจการตลาด
ผลการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 61 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และสูงกว่า 1,000% เมื่อเทียบกับปีก่อนเนื่องจากไตรมาสนี้มี Inventory Gain ถึงแม้ว่าปริมาณการจำหน่ายรวมของธุรกิจการตลาดปรับลดลงร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กลับมาระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 โดยตลาดอุตสาหกรรมยังคงได้รับผลกระทบค่อนข้างมากเนื่องจากอุตสาหกรรมการบินที่ยังไม่ฟื้นตัวส่งผลให้การจำหน่ายน้ำมันเครื่องบินปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 83 เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ตลาดค้าปลีกได้รับผลกระทบไม่มากนัก
ค่าการตลาดรวมสุทธิปรับลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าและร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากบริษัทฯ ไม่สามารถปรับราคาขายปลีกหน้าสถานีบริการให้เหมาะสมกับต้นทุนน้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ B100 และผลิตภัณฑ์เอทานอลที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นตลอดทั้งไตรมาส อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีการบริหารจัดการการจำหน่ายในช่วงการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นประจำปี 2564 โดยเลือกจำหน่ายผลิตภัณฑ์และช่องทางที่มีค่าการตลาดเหมาะสม จึงทำให้ค่าการตลาดรวมสุทธิต่อหน่วยปรับลดลงเล็กน้อย ทั้งนี้ บริษัทฯ มีส่วนแบ่งการตลาดด้านปริมาณการจำหน่ายน้ำมันผ่านสถานีบริการสะสมเดือนมกราคม – มีนาคม 2564 อยู่ที่ร้อยละ 15.9% (ตามข้อมูลกรมธุรกิจพลังงาน) และมีจำนวนสถานีบริการน้ำมัน ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2564 ทั้งสิ้น 1,243 สถานี
บริษัทฯ ยังคงมุ้งเน้นในการขยายธุรกิจ Non-Oil ในปีนี้ธุรกิจร้านกาแฟอินทนิลครบรอบ 15 ปี และตั้งเป้าหมายที่จะขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในและนอกสถานีบริการน้ำมัน โดย ณ สิ้นไตรมาสแรกของปี 2564 มีร้านกาแฟอินทนิลจำนวน 694 สาขา
นอกจากนี้ บริษัทฯ ร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เปิดตัวสถานีอัดประจุไฟฟ้า PEA VOLTA ในสถานีบริการน้ำมันบางจาก บนเส้นทางหลักสู่เมืองใหญ่และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 18 สถานี ให้บริการใน 11 จังหวัดทั่วประเทศ
3.กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า
ผลการดำเนินงานปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และ 27% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากในไตรมาสนี้รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม 140 ล้านบาท ทั้งนี้ ปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้ารวมปรับลดลงร้อยละ 34 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยหลักมาจากปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าใน สปป.ลาวปรับลดลง ซึ่งเป็นไปตามปัจจัยฤดูกาล (Seasonal Factor) ของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ แต่เมื่อเทียบผลการดำเนินงาน YoY ปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้ารวมเพิ่มขึ้น 40% จากการเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใหม่ (กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 20 เมกะวัตต์) และการรับรู้ผลการดำเนินงานเต็มไตรมาสของโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ “Nam San 3B” (กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา 45 เมกะวัตต์) อีกทั้งปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำใน สปป.ลาว มีปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้ารวมเพิ่มขึ้น
4.กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ผลการดำเนินงานปรับลดลงร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับปีก่อน
ธุรกิจไบโอดีเซล กำไรขั้นต้นลดลงร้อยละ 47 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากต้นทุนน้ำมันปาล์มดิบปรับเพิ่มขึ้นจากผลกระทบจากภัยแล้ง ส่งผลให้ปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในไตรมาสนี้อยู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ อีกทั้งปริมาณการจำหน่ายที่ปรับลดลงตามความต้องการใช้น้ำมันดีเซลจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่กลับมาระบาดอีกครั้งตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว
ธุรกิจเอทานอล ปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เอทานอลปรับลดลง เนื่องจากประชาชนลดการเดินทางเพื่อลดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ลดลง กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น และความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบ แต่ลดลงร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยหลักมาจากปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เอทานอลที่ปรับลดลง
5.กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติ
ผลการดำเนินงานปรับลดลงร้อยละ 86 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม OKEA ลดลง โดยในไตรมาสนี้ OKEA มีรายได้ลดลง สาเหตุหลักมาจากปริมาณการจำหน่ายแหล่งผลิต Draugen ลดลง ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติปรับเพิ่มขึ้นตามภาวะตลาดโลก อีกทั้งในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 มีการกลับรายการด้อยค่าสินทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของแหล่ง Yme ในขณะที่ไตรมาสนี้ไม่มีการบันทึกรายการดัง กล่าว นอกจากนี้การรับรู้ผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลงจากไตรมาสก่อนค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการแปลงค่าเงินกู้ยืมสกุลต่างประเทศ โดยเงินโครนนอร์เวย์ (NOK) เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาสนี้เปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ขณะที่ไตรมาสก่อนหน้าเงินโครนนอร์เวย์ (NOK) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 10 สำหรับผลการดำเนินงานเมื่อเทียบกับปีก่อนปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 103 จากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม OKEA เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาขายน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ OKEA มีรายได้เพิ่มขึ้น ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 มีการตั้งด้อยค่าทรัพย์สินจากราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่ปรับลดลงอย่างมาก อีกทั้งมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินโครนนอร์เวย์เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ โครงการ Yme อยู่ระหว่างการเชื่อมต่อและทดสอบอุปกรณ์ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ตามแผนในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 โดยโครงการ Yme จะเพิ่มกำลังผลิตให้กับ OKEA 7,500 บาร์เรลต่อวัน โดยในปีแรกของการผลิตจะมีกำลังการผลิตที่ 4,900 บาร์เรลต่อวัน
ตลอดปี 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้างไปทั่วโลก ถึงแม้ว่าในช่วงต้นปี 2564 ธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวจากแรงหนุนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการกระจายวัคซีนในกลุ่มประเทศหลัก เห็นได้จากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีประเด็นท้าทายหลายด้าน รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศไทยที่มีการคาดการณ์ว่าจะฟื้นตัว แต่จากการระบาดรอบใหม่ของไวรัสโควิด-19 ที่กลับมารุนแรงในช่วงต้นเดือนเมษายน และแพร่กระจายเร็วไปทั่วประเทศ อาจทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบไปอีกระยะหนึ่ง โดยเฉพาะในไตรมาส 2 และคาดว่าจะส่งผลกระทบเป็นเวลายาวนาน
อย่างไรก็ตามกลุ่มบริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงาน ลูกค้าและผู้เกี่ยวข้อง มีการดำเนินการตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ในด้านการดำเนินธุรกิจ ยังคงคุมเข้มมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายและการใช้เงินลงทุนอย่างเหมาะสมเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนบนพื้นฐานของกระแสเงินสด