ภาพการระบาดของโควิด-19 ระลอก3 ที่ปะทุขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน น่าจะเห็นชัดเจนขึ้นว่า จะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงใด จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังทรงตัวในระดับสูง ทำให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนต่างปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปี 2564 ลง จากแผนการเปิดประเทศที่จะล่าช้าออกไป ซึ่งจะมีผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นับเป็นรายได้สำคัญของประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (SCBT) ปรับลดประมาณการจีดีพีปี 2564 เหลือเพียง 1.8% จากเดิมที่ 2.4% ศูนย์วิจัยกรุงศรีปรับลดเหลือ 2.0% จากเดิม 2.2% และศูนย์วิจัย ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ EIC ปรับลดเหลือ 2.0% จากเดิม 2.6%
ส่วนหน่วยงานทางการอย่างสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับประมาณการเหลือ 2.3% จากก่อนหน้าที่คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 2.8% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับประมาณการจีดีพีไปก่อนหน้าจากเดิม 3.2% เหลือ 3% และผลของระลอก 3 น่าจะกระทบต่อจีดีพี 1.4-1.7% ขึ้นอยู่กับความยืดเยื้อ เพราะต้นตอของวิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้ มาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจึงขึ้นความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาด ความสามารถในการจัดหาและกระจายวัคซีน รวมถึงประสิทธิภาพของนโยบายการเงินการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ดังนั้นปัจจัยการกระจายวัคซีนและการเข้าถึงวัคซีนของประชาชนคนไทย จึงเป็นประเด็นที่กำลังจับตา โดยธปท.ประเมินภาพออกมาใน 3 กรณีคือ กรณีแรก หากกระจายวัคซีนได้เร็ว จำนวน 100 ล้านโดส ภายในปีนี้ จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่กับประชาชนในไตรมาสแรกของปีหน้า ซึ่งเป็นกรณีดีที่สุด จะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจปรับตัวได้เร็ว และจะเริ่มเห็นจีดีพีปีนี้ขยายตัวได้ 2% และ 4.7% ในปี 2565
แต่หากการจัดหาและกระจายวัคซีน จำนวน 64.6 ล้านโดสตามแผนเดิมล่าช้าออกไป กว่าจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันได้ จะล่าช้าออกไปเป็นไตรมาส 3 ปีหน้าจะทำให้ต้นทุนทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 3% ของจีดีพีหรือประมาณ 5 แสนล้านบาท ทำให้จีดีพีปีนี้ จะขยับเพิ่มได้เพียง 1.5% และ 2.8% ในปีหน้า
กรณีเลวร้ายสุด หากการจัดหาและกระจายวัคซีนได้น้อยกว่า 64.6 ล้านโดส จะทำให้จีดีพีปีนี้ ขยับได้แค่ 1.0% และ 1.1% ในปีหน้า เพราะกว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่จะล่าช้าไปถึงปลายปีหน้า และทำให้ต้นทุนเศรษฐกิจเพิ่มประมาณ 5.7% ของจีดีพีหรือราว 8-9 แสนล้านบาท ซึ่งต้นทุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะช่วยได้ดีขึ้นนั้น มาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่สามารถเปิดประเทศได้เร็วขึ้น รวมถึงนักท่องเที่ยวในประเทศที่เกิดความมั่นใจที่จะออกเดินทางท่องเที่ยวด้วย
ขณะที่ศูนย์วิจัยของธนาคาร ทหารไทยธนชาต หรือ ttb analytics ออกมาระบุว่า การปูพรมฉีดวัคซีนแบบเชิงรุกให้กับผู้ที่ทำงานในสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงและโอกาสที่จะติดเชื้อหรือแพร่เชื้อสูง เช่น สถานที่ทำงาน โรงงาน ห้างสรรพสินค้า ตลาด ร้านค้า และงานบริการต่างๆ ควบคู่ไปกับกลุ่มเสี่ยงสูงและผู้สูงอายุ และเร่งฉีดวัคซีนเร็วขึ้น 5 แสนโดสต่อวันจากแผนเดิม 3 แสนโดสต่อวัน จะช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้นถึง 5.7 หมื่นล้านบาท และเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวได้เร็วขึ้นในเดือนสิงหาคม 2564
ล่าสุดรัฐบาลได้ปรับแผนการฉีดวัคซีนแบบปูพรมมากขึ้นและกำหนดเป้าหมายที่ 15 ล้านโดสต่อเดือน เพื่อให้การฉีดกระจายตัวมากขึ้น ขณะเดียวกันได้เพิ่มเป้าหมายการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมให้มีถึง 150 ล้านโดสหรือมากกว่านั้น แม้ว่า บางส่วนอาจจะส่งมอบในปี 2565 จากปัจจุบันได้ตั้งเป้าการจัดซื้อวัคซีนไว้ที่ 100 ล้านโดส แต่เมื่อประเมินสถานการณ์แล้วมองว่า อาจจะไม่เพียงพอ เพราะหากเทียบกับจำนวนประชากรผู้ใหญ่ที่่ประมาณ 60 ล้านคน เท่ากับว่า จะต้องมีวัคซีนอย่างน้อย 120 ล้านโดส ดังนั้น หากต้องเผื่อไว้ให้เพียงพอสำหรับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนอื่นๆ ด้วยอาจจะต้องถึง 150-200 ล้านโดสในระยะต่อไป
ดังนั้นในการที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ในแง่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จึงขึ้นกับความเร็วของการกระจายฉีดวัคซีน ซึ่งมีความสำคัญมากกว่าชนิดของวัคซีนที่จะได้รับการฉีด โดยเฉพาะถ้าเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ จะทำให้มีความสบายใจในการเปิดประเทศมากขึ้น ประชาชนมีความมั่นใจจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นด้วย และนักท่องเที่ยวจะมั่นใจในการเดินทางท่องเที่ยวในไทยได้ เพราะล่าสุดก็เห็นตัวเลขจีดีพี ไตรมาส 1 ปี 2564 จากสำนักงานสภาพัฒน์การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แล้วว่า หดตัว 2.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว 4.2%
ธปท.ยังระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลต่อศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยปรับลดลง 13% จากช่วงก่อนหน้า ซึ่งต้องใช้เวลา กว่า 2-3 ปี จึงจะเห็นการฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติเหมือนก่อน ดังนั้น การควบคุมการแพร่ระบาดไม่สามารถทำได้จากภาคส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่ต้องเป็นความร่วมมือกันในทุกภาคส่วนไปพร้อมๆ กัน
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 08 ฉบับที่ 3,681 วันที่ 23 - 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2564