หนุน นายกฯหักดิบรถไฟฟ้า “สายสีส้ม”

28 พ.ค. 2564 | 08:05 น.

 แวดวงขนส่งหนุนนายกฯหักดิบโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้มก่อน รฟม.ลากประมูลเข้ารกเข้าพง ชี้ประเทศต้องสูญเสียโอกาสจากความล่าช้าการดำเนินโครงการและมีแต่จะเรียกแขกให้งานเข้า หากยังปล่อย รฟม.โม่แป้งต่อไป แนะรัฐปัดฝุ่นทีโออาร์เดิมจัดประมูลเชื่อสยบปัญหาทั้งหมด

 

หลังจากที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยังไม่สามารถผ่าทางตันการประมูลจัดหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ระยะทาง 35.9 กม.วงเงินลงทุนกว่า 1.42 แสนล้านบาท ภายหลังจากที่ฝ่ายบริหาร รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา36 ดำเนินการปรับเปลี่ยนเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกใหม่กลางอากาศ ภายหลัง จากการปิดขายซองประมูลไปแล้วนับเดือน โดยปรับเปลี่ยนเกณฑ์คัดเลือกจากที่ต้องพิจารณาข้อเสนอทางการเงินของบริษัทเอกชนที่ผ่านเกณฑ์ข้อเสนอทางเทคนิคเท่านั้นมาเป็นการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคและการเงินประกอบกัน จนก่อให้เกิดการร้องเรียน และฟ้องร้องต่อศาลปกครอง และศาลปกครองสูงสุดตามมา

 

แม้ว่าศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งให้รฟม.ทุเลาการบังคับตามเกณฑ์คัดเลือกใหม่ระหว่างรอฟังคำพิพากษา แต่รฟม. ก็ยังคงยืนยันที่จะเปิดประมูลภายใต้หลักเกณฑ์ใหม่ดังกล่าว โดยได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด แต่กระนั้นศาลปกครองสูงสุด ที่ใช้เวลาพิจารณาคำชี้แจงจาก รฟม.แล้วก็ยังไม่มีคำสั่งใดๆ ลงมา  ท้ายที่สุด รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือก จึงตัดสินใจยกเลิกการประกวดราคาในครั้งก่อนไปเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564

ด้วยข้ออ้าง ไม่อาจรอฟังคำพิพากษาจากศาลปกครองกลาง หรือศาลปกครองสูงสุดได้ และเชื่อว่าการเปิดประมูลใหม่ โดยนำเอาเกณฑ์คัดเลือกเจ้าปัญหามาประกาศเป็นเงืาอนไขประมูลตั้งแต่แรก จะร่นระยะเวลาการจัดประมูลได้ แต่สุดท้ายการประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม กลับยังไม่ขยับเขยื้อนไปไหน รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกยังคงไม่สามารถออกประกาศเงื่อนไขการประมูลตามเกณฑ์ใหม่ได้ ทั้งโครงการยังจ่อจะเรียกแขกให้งานเข้า เพราะไม่เพียงตัวผู้มีส่วนรับผิดชอบใจการดำเนินโครงการจะถูกร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.แล้ว  ผู้ว่าการรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือก ยังถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) มีมติให้ส่งผลสอบสวนไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนเอาผิดกันกราวรูดอีกระลอกด้วย

ล่าสุดยังถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบมีคำสั่งรับคำฟ้องคดีที่บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTS ที่ฟ้องเอาผิดผู้ว่ารฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 กรณี แก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และยกเลิกการประมูลดังกล่าว ในความผิดทุจริตหลายกระทงด้วยกัน

แหล่งข่าวระดับสูงจาก รฟม.เปิดเผยว่า ผลพวงจากการที่ DSI ยื่นสำนวนสอบสวนให้คณะกรรมการป.ป.ช. ไต่สวนโครงการนี้ รวมทั้งกรณีที่ศาลทุจริตและประพฤติมิชอบ มีคำสั่งให้รับคำฟ้องของ BTS ไว้พิจารณาไต่สวนนั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของโครงการนี้ โดยหากศาลทุจริตฯ มีคำสั่งให้ดำเนินการไต่สวนโครงการดังกล่าว ผู้ว่าการรฟม.และเจ้าหน้าที่รัฐที่ร่วมเป็นกรรมการคัดเลือกฯ จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่และหน่วยงานต้นสังกัดจำเป็นต้องมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ด้วย ซึ่งจะทำให้เส้นทางการประมูลคัดเลือกโครงการดังกล่าวต้องหยุดชะงักลงไปอย่างแน่นอน

ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลกฎหมายต่างๆ เกือบทั้งหมดในเวลานี้ สมควรจะต้อง "ล้วงลูก"เข้ามาผ่าทางตันการดำเนินโครงการนี้โดยมีคำสั่ง หรือมติคณะมนตรี(ครม.)ให้ผู้เกี่ยวข้องคือ กระทรวงคมนาคมและรฟม.ปัดฝุ่นนำเอาเกณฑ์ประมูลคัดเลือกตามทีโออาร์(TOR)เดิมมาใช้เท่านั้น จึงจะแก้ไขปัญหาคาราคาซังที่เป็นอยู่ได้ เพราะหากยังปล่อยให้รฟม.ดำเนินการจัดประมูลภายใต้หลักเกณฑ์เจ้าปัญหา เชื่อแน่ว่าจะทำให้เส้นทางการโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม เผชิญทางตันอย่างแน่นอน โดยเฉพาะหากศาลปกครองหรือ ศาลทุจริตฯ รวมทั้ง ป.ป.ช.มีคำพิพากษาหรือ คำชี้ขาดออกมาว่า การดำเนินการของรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกต่อการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ประมูลคัดเลือกส่อไปในทางทุจริต มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์คัดเลือกเอื้อประโยชน์แก่เอกชนบางรายแล้ว จะยิ่งทำให้เส้นทางการประมูลเผชิญทางตัน

" เหตุนี้จึงไม่มีหนทางอื่นที่จะทำให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจะเดินต่อไปได้ นอกจากนายกรัฐมนตรีจะหักดิบให้กระทรวงคมนาคมและรฟม.ต้องเปิดประมูลโครงการนี้ภายใต้หลักเกณฑ์คัดเลือกเดิมที่ครม.ได้อนุมัติหลักการไปแล้วเท่านั้น"

สำหรับความล่าช้าที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการนี้แหล่งข่าวกล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่า ขณะนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มได้ล่าช้าไปจาก "ไทม์ไลน์"ที่วางเอาไว้เดิมอย่างมาก และมีแนวโน้มว่าจะทำให้รฟม.อาจต้องสูญเสีย งบประมาณกว่า 1-2,000 ล้านบาทในการดูแลรักษาระบบในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม- มีนบุรี) ที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 65 ขณะที่การคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการนี้รวมทั้งดำเนินโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้มตะวันตก(บางขุนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม) ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีจากนี้ ยังไม่รวมความเสียหาย จากการที่ประชาชนคนกรุงสูญเสียโอกาสในการใช้บริการรถไฟฟ้า ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นส่วนนี้ จำเป็นจะต้องมีผู้รับผิดชอบทั้งระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติงาน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า  ความเสียหาย และความล่าช้าในการดำเนินโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้มที่เกิดขึ้น ทั้งกระทรวงคมนาคมและ บอร์ดรฟม. รวมถึงผู้บริหารรรฟม.ไม่สามารถจะปฏิเสธความรับผิดชอบไปได้ จึงเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้กำกับดูแลนโยบายรัฐบาลในภาพรวมจะต้องแสดงให้เห็นว่า ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นหรือ ปล่อยปละละเลยให้เกิดปัญหาขึ้น ในเมื่อมีข้อมูลประจักษ์ชัดไม่เพียงการดำเนินโครงการรถไฟฟ้า ตามนโยบายรัฐบาลจะเต็มไปด้วยความล่าช้าแล้ว ยังจ่อจะเรียกแขกให้งานเข้าจะลากเอารัฐบาลไปขึ้นเขียง ป.ป.ช.ตามมาอีก จึงสมควรจะต้องหาผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเร็ว

หาไม่แล้วนายกรัฐมนตรี จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายทั้งมวล ดังที่กำลังเกิดขึ้นกับความล้มเหลวของการบริหารจัดการวัคซีนต้าน covid ในเวลานี้!

ข่าวเกี่ยวเนื่อง

 ระวังค่าโง่ รถไฟฟ้า ‘สายสีส้มตะวันตก’  ติดหล่มเวนคืน 

“บีทีเอส” ดับเครื่องชน รถไฟฟ้าสายสีส้ม

จับพิรุธ ! เปลี่ยนเงื่อนไข “TOR” ประมูล รถไฟฟ้า สายสีส้ม

“อิตาเลี่ยนไทย” ทำพิลึก ประมูล รถไฟฟ้า สายสีส้ม เลิกเน้นราคา

“ITD” อ้าง รถไฟฟ้า“สายสีส้ม” เทคนิคขั้นสูง ทีโออาร์ อย่ายึดราคาประมูล