รฟม.ซอย6สัญญา ประมูลรถไฟฟ้า”ม่วงใต้” แสนล้าน ไม่หวั่นซ้ำรอยสาย"สีส้ม"

30 พ.ค. 2564 | 05:48 น.

รฟม.ซอย6สัญญา ประมูลรถไฟฟ้า”ม่วงใต้” แสนล้าน ปีหน้าชิงเดือด ใช้วิธีระกวดราคานานาชาติ ย้ำ ไม่หวั่นซ้ำรอย"สายสีส้ม"

 

“รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้” ถือเป็น หนึ่งในเมกะโปรเจ็กต์ที่มีกระแสดราม่าไม่แพ้กับโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นๆ อีกทั้งยังเป็นโครงการที่น่าจับตามองว่าเอกชนรายใดจะได้เป็นผู้รับสัมปทานโครงการสายนี้ ซึ่งมีแนวโน้มที่รฟม.จะประมูลงานโยธาด้วยวิธีประกวดราคานานาชาติ เพื่อไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่กลายเป็นประเด็นยืดเยื้อไม่สิ้นสุด
ขณะกระแสเวนคืนที่ดินบริเวณสถานีบางขุนพรหมโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่มีการปักหมุดบริเวณสวัดเอี่ยมวรนุช จนกลายเป็นประเด็นร้อนทำให้ประชาชนไม่พอใจการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ถึงขั้นต้องออกมาชี้แจง

โดยรฟม.ระบุว่าประเด็นกรณีที่รื้อวัดเอี่ยมวรนุชเพื่อก่อสร้างทางขึ้น-ลง ของสถานีบางขุนพรหม โดยรฟม. ลงพื้นที่ ปักหมุดแนวเขตพื้นที่เวนคืนนั้น รฟม.ได้ประสานงานกับวัดเอี่ยมวรนุช ได้ข้อสรุปแล้ว เบื้องต้นจะใช้พื้นที่บริเวณตึกแถวหัวมุมของวัดเอี่ยมวรนุชเพื่อก่อสร้างโครงการฯ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นการเข้าใจผิด เนื่องจากทางวัดเอี่ยมวรนุชเห็นว่าหลังจากพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินมีผลบังคับใช้ในพื้นที่บริเวณดังกล่าวราว 100-200 เมตร ต้องดำเนินการเวนคืนที่ดินทั้งหมด ซึ่งความเป็นจริงไม่ใช่แบบนั้น ทั้งนี้ช่วงที่รฟม.จะดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ โดยประสานงานกับวัดเอี่ยมวรนุชอีกครั้ง เพื่อหาแนวทางป้องกันกรณีขุดเจาะระหว่างการก่อสร้างไม่ให้กระทบต่อวัดเอี่ยมวรนุช  
สำหรับการก่อสร้าง สายสีม่วงใต้ มูลค่า1.01แสนล้านบาทแบ่งเป็น6สัญญา เปิดประมูลงานโยธาด้วยวิธีประกวดราคานานาชาติ (International Bidding) ซึ่งดำเนินการในลักษณะเดียวกับการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - คลองบางไผ่, โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง - บางแค และช่วงบางซื่อ - ท่าพระ, โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ – คูคต และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย - มีนบุรี  จึงมั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาเหมือนการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์)  ส่วนงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้า การเดินรถไฟฟ้า และบำรุงรักษา คาดว่าจะใช้วงเงินประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ในรูปแบบ PPP Gross cost (จ้างเดินรถ) ระยะเวลา 30 ปี เหมือนรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เหนือ) ช่วงเตาปูน – คลองบางไผ่ 


“การดำเนินงานในเวลานี้ยังไม่มีปัญหาใดที่จะเป็นอุปสรรคให้การเดินหน้าโครงการต้องหยุดชะงักลง สำหรับเรื่องการเวนคืนที่ดินนั้น อยู่ระหว่างทยอยดำเนินการยังไม่พบปัญหาอุปสรรค ทั้งนี้ตามหลักกฎหมายด้านการเวนคืนที่ดิน ต้องมีการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนบริเวณพื้นที่ในโครงการอยู่แล้ว ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบ และพิจารณาค่าทดแทน” 

ขณะเดียวกันโครงการดังกล่าวได้มีเปลี่ยนแปลงชื่อสถานี จำนวน 6 สถานี  ประกอบด้วย  1.สถานีสามเสน เป็น สถานีวชิรพยาบาล  2.สถานีวังบูรพา เป็น สถานีสามยอด (เชื่อมต่อสายสีน้ำเงิน) 3.สถานีสะพานพระพุทธยอดฟ้า เป็น สถานีสะพานพุทธฯ  4.สถานีจอมทอง เป็น สถานีดาวคะนอง  5.สถานีดาวคะนอง เป็น สถานีบางปะแก้ว และ6.สถานีประชาอุทิศ เป็น สถานีแยกประชาอุทิศ  โดยมีการยกเลิกสถานีมไหสวรรย์ ซึ่งเป็นสถานีใต้ดิน เนื่องจากติดอุโมงค์ทางลอดรถยนต์ ทำให้ไม่สามารถก่อสร้างสถานีได้ตามแบบ โดยแก้ปัญหาด้วยการขยับระยะห่างของสถานีสำเหร่ และดาวคะนองเข้าหากัน ให้ใกล้แยกมไหสวรรย์มากขึ้น

ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ มีระยะทาง 23.6 กม. เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 12.6 กม. และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 11 กม. มี 17 สถานี เป็นสถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี มีอาคารจอดแล้วจร 2 แห่ง และอาคารจอดรถไฟฟ้า โดยเป็นโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมกรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรีและจังหวัดสมุทรปราการ แนวเส้นทางเริ่มจากสถานีเตาปูน (สถานียกระดับ) ซึ่งเป็นสถานีร่วมของรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม และรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล วิ่งไปตามถนนสาย ง 8 เป็นโครงสร้างยกระดับข้ามคลองบางซื่อ  

จากนั้นลดระดับลงเป็นโครงสร้างใต้ดินลอดใต้กรมสรรพาวุธทหารบก เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนทหาร ผ่านแยกเกียกกาย เข้าสู่ถนนสามเสน ผ่านรัฐสภาแห่งใหม่ โรงเรียนราชินีบน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวรนิเวศฯ ผ่านแยกผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนินกลาง เข้าสู่ถนนมหาไชย ผ่านวัดราชนัดดาฯ  เข้าสู่ถนนจักรเพชร ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า เข้าสู่ถนนประชาธิปก ผ่านสี่แยกบ้านแขก ลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ลอดใต้แยกมไหสวรรย์ และเปลี่ยนเป็นทางยกระดับวิ่งไปตามถนนสุขสวัสดิ์ ผ่านแยกประชาอุทิศ สะพานภูมิพล 1 ผ่านสามแยกพระประแดง และสิ้นสุดที่ครุใน จ.สมุทรปราการ รฟม.ซอย6สัญญา ประมูลรถไฟฟ้า”ม่วงใต้” แสนล้าน ไม่หวั่นซ้ำรอยสาย\"สีส้ม\"

คงต้องจับตาดูว่าการประมูลรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้จะกลายเป็นประเด็นเหมือนกับรถไฟฟ้าสายสีส้มหรือไม่ หากรฟม.ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการประมูลในครั้งนี้ได้ เห็นทีประชาชนคงต้องรอเก้อที่จะได้ใช้รถไฟฟ้าเส้นทางนี้เป็นแน่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง