หลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในเมียนมา ขนาด 8.2 แมกนิจูด จนแรงสั่นสะเทือนส่งมาถึงกรุงเทพฯ หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า “ตึกที่เราอยู่จะรับมือไหวไหม” โดยเฉพาะอาคารสูงที่มักโยกหรือสั่นเมื่อมีแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวในภูมิภาค
แผ่นดินไหวรู้สึกได้ถึงทั่วกรุงเทพฯ
คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ตึกในไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ออกแบบให้รองรับแรงแผ่นดินไหวได้มากแค่ไหน เราสามารถสังเกตหรือประเมินความปลอดภัยของอาคารได้อย่างไร
ประเทศไทยเริ่มมีกฎหมายควบคุมการออกแบบอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหวตั้งแต่ปี 2540 และมีการอัปเดตเพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง รวมเป็น 3 ฉบับสำคัญ
กฎกระทรวงปี 2540 ฉบับแรก
เริ่มบังคับให้อาคารสูงเกิน 15 เมตร (ประมาณ 5 ชั้นขึ้นไป) ใน 10 จังหวัดเสี่ยงแผ่นดินไหว เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ตาก กาญจนบุรี ฯลฯ ต้องออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหว เพราะอยู่ใกล้รอยเลื่อนทางธรณีวิทยา
กฎกระทรวงปี 2550 ขยายพื้นที่
เพิ่มพื้นที่บังคับใช้มาถึง กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร
แม้จะไม่ได้อยู่ใกล้รอยเลื่อน แต่โครงสร้างดินในพื้นที่เหล่านี้ค่อนข้างนุ่ม ทำให้แรงสั่นจากแผ่นดินไหวที่เกิดไกล ๆ ยังส่งผลสะเทือนแรงกว่าที่คาด
กฎกระทรวงปี 2564 อัปเดตล่าสุด
ควบคุมอาคารหลากหลายประเภท ไม่ใช่แค่ตึกสูง เช่น อาคารสาธารณะ บ้านจัดสรรในพื้นที่เสี่ยง หรือสถานที่คนแออัด ปัจจุบัน หากจะสร้างอาคารใหม่ ต้องยึดตามกฎหมายปี 2564 เป็นหลัก ซึ่งเข้มงวดและครอบคลุมที่สุด
หลักการสำคัญของกฎหมายไทยคือ ให้อาคารสามารถต้านทานแผ่นดินไหวระดับรุนแรงที่ อาจเกิดขึ้นในไทยได้ โดยทั่วไปออกแบบเพื่อรองรับแรงสั่นสะเทือนที่เทียบเท่ากับแผ่นดินไหวระดับ 7.0–7.5 ริกเตอร์ ซึ่งประเทศไทยเคยเกิดแผ่นดินไหวสูงสุด 6.5 ริกเตอร์ที่จังหวัดน่านเมื่อปี 2478
ภาพอาคารที่พังถล่มหลังจากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่ใจกลางเมียนมาร์เมื่อวันศุกร์ หน่วยงานเฝ้าระวังแผ่นดินไหวรายงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อกรุงเทพฯ เช่นกัน โดยผู้คนทยอยออกมาจากอาคารหลังจากเกิดแผ่นดินไหวในเมืองหลวงของไทย ในกรุงเทพฯ ประเทศไทย 28 มีนาคม 2568 REUTERS