นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ถึงความพร้อมในการเริ่มทยอยฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับผู้ปฏิบัติงาน แรงงานภาคอุตสาหกรรม และชุมชนรอบข้าง พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมกลุ่มมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ จังหวัดระยอง ประกอบด้วย 5 นิคมอุตสาหกรรม และ 1 ท่าเรืออุตสาหกรรม คือ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอตะวันออก (มาบตาพุด) นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย นิคมอุตสาหกรรมผาแดง นิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ในวันที่ 9 มิถุนายน 2564 โดยเป็นการดำเนินงานตามมติของคณะกรรมการบริหารจัดการจุดบริการให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรมและประชาชน กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการเร่งกระจายวัคซีนไปยังประชาชนโดยเร็ว เพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับแรงงานภาคอุตสาหกรรมให้สามารถดำเนินการผลิตได้ตามปกติ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
“ถือเป็นเรื่องที่ดีในการสนับสนุนเป้าหมายของรัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการฉีดวัคซีนให้ได้ 5 แสนคนต่อวัน ซึ่งการนำร่องในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมกลุ่มมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ที่มีนิคมอุตสาหกรรมถึง 5 แห่ง และมีแรงงานจำนวนมาก จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการกำกับดูแลและสามารถรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นความร่วมมือกันระหว่างนิคมอุตสาหกรรมกลุ่มมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ระยอง และ กนอ. ซึ่งได้รับการจัดสรรวัคซีนจากทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง โดยจุดบริการฉีดวัคซีนตั้งอยู่ที่บริเวณอาคารสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด (ห้องประชุมสมเจตต์) ซึ่งจุดบริการดังกล่าวอยู่ใกล้กับโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ระยอง
“สำหรับการให้บริการฉีดวัคซีนกำหนดระยะไว้ 2 เดือน โดยให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. เริ่มวันแรก คือ วันที่ 9 มิถุนายนนี้ โดยสามารถรองรับผู้รับวัคซีนได้วันละประมาณ 1,000 คน ซึ่งในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมกลุ่มมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ จังหวัดระยอง มีผู้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ขอรับวัคซีน จำนวนทั้งสิ้น 25,000 คน ซึ่งคาดว่าในระยะเวลา 2 เดือนจะดำเนินการฉีดวัคซีนได้ครบตามจำนวนที่แจ้งไว้”
นายวีริศ กล่าวอีกว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการจุดบริการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID-19) แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรมและประชาชน เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้หารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ กนอ. เป็นผู้ดำเนินการประสานกับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ในการกรอกข้อมูลยืนยันการรับวัคซีนทางเลือกที่ ส.อ.ท.จะได้รับการจัดสรรจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งวัคซีนดังกล่าว ได้แก่ วัคซีนซิโนฟาร์ม จะได้รับมาในจำนวนจำกัด และจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,000 บาทต่อโดส ฉีดจำนวน 2 ครั้ง เท่ากับ 2 โดส ทั้งนี้ จากการกรอกข้อมูลยืนยันการรับวัคซีนดังกล่าว ได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก และเมื่อได้รับวัคซีนเข้ามาเรียบร้อยแล้ว ส.อ.ท.จะพิจารณาบริหารจัดการให้กับผู้ที่ได้ลงทะเบียนไว้ คาดว่าจะสามารถทยอยฉีดได้ในช่วงประมาณปลายเดือนกรกฎาคมนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :