นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด สมอ. (คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม : กมอ.) ได้มีมติให้คณะกรรมการวิชาการรายสาขา (กว.) เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นผู้จัดทำมาตรฐานสุรา ทั้งสุรากลั่น และสุราแช่ ทบทวนเกณฑ์ด้านความปลอดภัยที่กำหนดในมาตรฐานฉบับแก้ไขใหม่ที่เพิ่มขึ้นกว่ามาตรฐานเดิม เช่น สุรากลั่น กำหนดแอลดีไฮด์ จากเดิม ไม่เกิน 160 มิลลิกรัมต่อลิตร เป็น ไม่เกิน 220 มิลลิกรัมต่อลิตร ในกรณีสุรากลั่นที่มีแรงแอลกอฮอล์ เกิน 40 ดีกรี และเมทิลแอลกอฮอล์ จากเดิม ไม่เกิน 420 มิลลิกรัมต่อลิตร เป็น ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อลิตร
สำหรับสุราแช่ ได้กำหนดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จากเดิม ไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อลิตร เป็น ไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งบอร์ด สมอ. ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขข้อกำหนดเกณฑ์ด้านความปลอดภัยดังกล่าว เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยที่มักจะดื่มสุราเป็นประจำ เป็นปริมาณมาก และต่อเนื่อง หากได้รับปริมาณเมทิลแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกายมากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
ประกอบกับข้อมูลทางการแพทย์พบว่า ผู้บริโภคที่ได้รับปริมาณเมทิลแอลกอฮอล์ หรือเมทานอลเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากเกินไป อาจมีผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มีอาการตาพร่ามัว แพ้แสง ร่วมกับอาการอื่นๆ ด้วย เช่น ปวดเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย สับสน มึนงง ในบางรายอาจมีอาการชักหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะร่วมด้วย บอร์ด สมอ. จึงมีมติให้ กว. นำกลับไปทบทวนก่อนนำเข้าในการประชุมครั้งต่อไป
ทั้งนี้ มาตรฐานสุรา ได้ประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2516 ต่อมาในปี 2544 ได้มีการทบทวนและยกเลิกมาตรฐานดังกล่าว และประกาศกำหนดเป็นมาตรฐานเรื่องใหม่ 3 เรื่อง คือ สุรากลั่น มอก.2088-2544 ไวน์ มอก.2089-2544 และเบียร์ มอก.2090-2544 ซึ่งในปีนี้ ได้มีการทบทวนมาตรฐานทั้ง 3 เรื่อง เพื่อให้มาตรฐานมีความทันสมัย สอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน ตลอดจนส่งเสริมผู้ประกอบการในประเทศให้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยต่อการบริโภค และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าให้ผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้นด้วย โดยสาระสำคัญของการแก้ไขมาตรฐาน นอกจากจะทบทวนเกณฑ์ด้านความปลอดภัยข้างต้นแล้ว ยังได้แก้ไขชื่อมาตรฐานจาก ไวน์ เป็น สุราแช่ เพื่อให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์อีกด้วย
"การประชุมบอร์ด สมอ. ในครั้งนี้ นอกจากจะให้ทบทวนมาตรฐานสุราแล้ว ยังได้เห็นชอบมาตรฐานอื่นๆ รวม 13 มาตรฐาน อาทิ มาตรฐานหน้ากากผ้า เบียร์ เส้นใยกัญชง ท่อไอเสียรถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วนท่อไอเสียรถจักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์ล้อยางเพื่อการเกษตร และอุปกรณ์เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและภาชนะรองรับอาหารที่ทำจากเหล็กกล้า อีกด้วย รวมทั้ง เห็นชอบให้ สมอ. ดำเนินการกำหนดให้ท่อไอเสียรถจักรยานยนต์ เป็นสินค้าควบคุมต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และยังได้สั่งให้ทำลายสินค้าไม่ได้มาตรฐานที่ สมอ. ยึดอายัดและดำเนินคดีถึงที่สุดแล้วจำนวน 8 ราย มูลค่ารวมกว่า 19 ล้านบาท อาทิ เหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็น ของเล่น ท่อพีวีซีสำหรับร้อยสายไฟ ท่อพีวีซีน้ำดื่ม ฝักบัว ก๊อกน้ำ ลำโพง หมวกกันน็อค เป็นต้น"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :