จี้ล้มประมูลทางคู่ 8 กลุ่มรุมถล่ม สัญญาเอื้อรายใหญ่คว้างาน

23 มิ.ย. 2564 | 18:05 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มิ.ย. 2564 | 03:28 น.

8 กลุ่มนักการเมือง-นักวิชาการ-รับเหมา-นักกฎหมาย-คนรถไฟไล่จี้ “บิ๊กตู่” อาศัยอำนาจ พรบ.บริหารราชการแผ่นดินล้มประมูลรถไฟทางคู่เหนือ-อีสาน มูลค่า1.28 แสนล้าน เอื้อ 5 ขาใหญ่ แนะยึดมติซูเปอร์บอร์ดเดิม แบ่ง 7 สัญญาสายเหนือเปิดเอกชนรายกลางร่วมแข่งขัน

การประมูลรถไฟทางคู่สายใหม่ 2 เส้นทาง ประกอบด้วย สายเหนือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และ สายอีสาน ช่วงบ้านไผ่มุกดาหาร-นครพนม รวม 5 สัญญา มูลค่า1.28 แสนล้านบาท ของ การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กลายเป็นปมร้อนที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องเร่งแก้ปัญหา เพราะเกิดข้อครหาในวงกว้างว่าอาจส่อไปในทางสมยอมหรือเกิดการฮั้วประมูล นำพาซึ่งความไม่โปร่งใสมาสู่รัฐบาล ในทางกลับกันหากเพิกเฉยไม่ได้รับการแก้ไข ประเมินว่าเรื่องนี้ต้องร้อนฉ่าถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อย่างแน่นอน

8 กลุ่มล้มประมูล 2 ทางคู่

การเปิดหน้าชนจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไล่เรียงพบ มี 8 กลุ่มทั้งนักการเมือง ผู้รับเหมา นักวิชาการ แม้แต่พนักงานของการรถไฟฯเอง นำพาไปสู่การเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีชะลอการลงนามในสัญญาหรือล้มประมูลโครงการ รถไฟทางคู่สายเหนือ-อีสาน เพราะมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ว่าการประมูลในครั้งนี้ ไม่ชอบมาพากลในหลายด้าน รัฐไม่ได้ประโยชน์จากการแข่งขัน

สะท้อนจากผู้รับเหมารายใหญ่ผ่านเกณฑ์เงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) นำผลงานยื่นขอประกวดราคา ได้เพียง 5 ราย ที่สำคัญผลการประมูลราคาเสนอตํ่าสุดทั้ง 5 สัญญาห่างจากราคากลางเพียง 0.08% หรือ วงเงิน 1.28 แสนล้านบาท รัฐประหยัดงบประมาณเพียง 106 ล้านบาท ที่ลงลึกไปในรายละเอียดมากกว่านั้น คือทั้ง 5 บริษัท ได้งานครบทุกรายพอเหมาะพอดีทั้ง 5 สัญญา หรือที่นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี ออกมาระบุว่า 5บริษัท5สัญญา ครบตามเป้าหมาย หากมองด้วยสายตา จะทราบทันทีว่าส่อไปในทางฮั้วแน่นอน

หมอวรงค์ยังสะท้อนอีกว่า เมื่อไม่มีการแข่งขันรัฐสูญงบประมาณ ไม่ตํ่ากว่า 7,000 ล้านบาท สอดคล้องนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรค ประชาธิปัตย์ที่ออกมากระทุ้งหลายรอบ นอกจากราคาประมูลตํ่ากว่าราคากลาง หากเปรียบเทียบกับทางคู่สายใต้ช่วงนครปฐม-ชุมพร ที่ห่างจากราคากลางถึงกว่า 2,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ระยะแรกช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ที่ราคาเสนอตํ่าสุดทิ้งห่างราคากลางค่อนข้างมาก ถึง 40% ทั้งที่เป็นการประมูลจากหน่วยงานเดียวแต่วิธีการต่างกันจนน่าแปลก

ไม่ต่างจากนายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังธรรมใหม่ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การรถไฟที่ตั้งข้อสังเกตไม่ต่างกันว่า การประมูลครั้งนี้ไม่ชอบมาพากล ที่ต้องเร่งสะสาง

ภายหลังจากกลุ่มดังกล่าว เรียกร้องให้ตรวจสอบการประมูล 2 ทางคู่ ล่าสุดผู้แทนคณะราษฎรไทยแห่งชาติ และนายศรีสุวรรณ จรรยา ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลแบบสดๆร้อนๆ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมา ในข้อความระบุว่า ขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนการประมูลรถไฟรางคู่ที่ส่อฮั้วประมูลพร้อมทั้งขอให้นำเสนอต่อครม.ให้พิจารณาชะลอโครงการรถไฟทางคู่ที่ใช้เงินกว่า 1.28 แสนล้านบาท ออกไปก่อนเนื่องจากโครงการไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนประกอบกับภาวะวิกฤติการเงินการคลังของประเทศ เพื่อประโยชน์ต่อทางราชการ ขณะก่อนหน้านี้ นายศรีสุวรรณ ได้มีหนังสือร้องไปยัง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และป.ป.ช.ตามลำดับ เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องการเปิดให้ 5 ผู้รับเหมารายใหญ่ ทำให้รัฐเสียประโยชน์ด้านราคา
ทั้งนี้ การชะลอการประมูลโครงการดังกล่าวออกไป ทางนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล มีอํานาจจะยับยั้งการปฏิบัติราชการใดๆ ที่ขัดต่อนโยบายหรือมติของคณะรัฐมนตรีก็ได้ และมีอํานาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น ตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ได้


จี้ล้มประมูลทางคู่ 8 กลุ่มรุมถล่ม สัญญาเอื้อรายใหญ่คว้างาน

เปิดไส้ในส่อฮั้วประมูล

สำหรับชนวนปัญหา เกิดจากรฟท. ได้ปรับลดสัญญา ทางคู่สายเหนือ จาก 7 สัญญ าประกอบด้วย งานราง 6 สัญญาและอาณัติสัญญาณ 1 สัญญา เหลือ 3 สัญญารวมอาณัติสัญญาน ภายหลังซุปเปอร์บอร์ดมีอันต้องหมดวาระลงตามรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)มาเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเห็นว่า 7สัญญาอาจเกิดความล่าช้า ในทางกลับกันมีการตั้งข้อสังเกตว่า หากแบ่ง 3 สัญญาจะทำให้มูลค่าแต่ละสัญญาสูง ทำให้ผู้รับเหมารายกลาง หลุดจากเวทีแข่งขัน ส่วนสายอีสานซอยสัญญารอไว้ 2 สัญญา ซึ่งเป็นอำนาจของคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ดรฟท.) เห็นชอบและประมูลในเวลาไล่เลี่ยกัน ดังนั้น 5 บริษัท 5 สัญญาได้งานไปครองแบบพอเหมาะพอเจอะคงไม่เกินความจริงนัก

แจงยุบ 7 สัญญาทางคู่เหนือ

ขณะการชี้แจงของ รฟท. และกระทรวงคมนาคม ออกมาเป็นระยะถึงความโปร่งใส สาเหตุหั่น 7 สัญญาประมูลรถไฟทางคู่สายเหนือเหลือ 3 สัญญา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงกรณีที่คณะราษฎรไทยแห่งชาติยื่นหนังสือ ถึงนายกรัฐมนตรีชะลอ2 ทางคู่ แต่ยืนยันว่าได้ดำเนินการตามระเบียบกฎหมายและขั้นตอนปกติ

ด้านแหล่งข่าวรฟท.ระบุว่า รฟท.ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว หากมีการชะลอการประมูลโครงการฯออกไปจะได้รับผลกระทบต่อแผนการก่อสร้างโครงการฯ 

“การจัดแบ่งสัญญาสายเหนือเป็น 7 สัญญา ที่มีงานโยธา 6 สัญญา และงานอาณัต ิสัญญาณ 1 สัญญาโดย คกจ. (คณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง หรือซุปเปอร์บอร์ด) ที่แต่งตั้งโดยคำสั่งหัวหน้าคณะ คสช. นั้น ยังไม่มีการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าวจนกระทั่ง คกจ. ถูกยกเลิกตามคำสั่งที่ 9/2562  ของหัวหน้าคณะคสช.”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,690 วันที่ 24 - 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง