พิษปิดแคมป์คนงานสะเทือนรถไฟฟ้า วอนนายกฯขยายสัญญา

30 มิ.ย. 2564 | 13:55 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ค. 2564 | 10:16 น.

กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง โอด ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง กระทบบิ๊กโปรเจกต์รัฐ มูลค่า 1.68 แสนล้านชะงัก ด้านสมาคมผู้รับเหมาก่อสร้าง จ่อยื่นหนังสือนายก เยียวยาแรงงานผู้ประกอบการ-ต่อสัญญาโครงการฯ

การประกาศของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือศบค. ให้ล็อกดาวน์กรุงเทพฯและปริมณฑลพื้นที่สีแดงเข้ม หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ นนทบุรี นครปฐมปทุมธานีและสมุทรปราการ 

รวมถึงพื้นที่ใน 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสงขลา โดยเน้นเป็นบางพื้นที่ และบางประเภทกิจการ ในส่วนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ออกประกาสสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง ระยะเวลา 1 เดือน ห้ามเข้า-ออกและเคลื่อนย้ายคนแบบ 100% เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เพื่อยับยั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น กำลังสร้างผลกระทบอย่างหนักต่อการก่อสร้างรถไฟฟ้าสาย 3 สาย มูลค่ากว่า 1.6 8 แสนล้านบาท ต้องหยุดชะงักลงและส่งผลกระทบต่อต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น รวมถึงรายได้จากการดำเนินงาน

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือบีทีเอสซี เปิดเผย ทางบีทีเอสยอมรับว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรีและโครงการรถไฟฟ้าสายเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ได้รับผลกระทบทำให้ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างในช่วงนี้ได้ ซึ่งทางบริษัทหวังว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะจบโดยเร็ว

 

สำหรับการสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างในครั้งนี้ ได้ส่งผลให้บริษัทได้รับความเสียหาย เพราะต้องหยุดการก่อสร้างรวมทั้งหมด กระทบต่อการก่อสร้างเกิดความล่าช้าออกไป ซึ่งจะต้องเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ เพื่อให้ทันต่อการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ก่อสร้างชะงักขาดรายได้

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC กล่าวว่า การสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างเป็นเวลา 1 เดือนนั้น ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบโดยตรง ต่อระยะเวลาของโครงการที่ต้องล่าช้าออกไป ซึ่งผลกระทบจริงก็คงมากกว่า 1 เดือน เนื่องจากต้องมีการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ เข้า-ออก เพื่อเริ่มงานใหม่ โดยหลังการปิดแคมป์คนงานก่อสร้างจะต้องมีการเคลื่อนย้ายเก็บเครื่องมือเครื่องจักรไปไว้ในสถานที่ที่ปลอดภัยระหว่างการหยุดทำงาน

พิษปิดแคมป์คนงานสะเทือนรถไฟฟ้า วอนนายกฯขยายสัญญา

ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินความเสียหายได้ เพราะคงต้องลงในรายละเอียด ของประกาศแนวทางปฏิบัติของรัฐ ที่ชัดเจนมากกว่านี้ เพราะยังมีหลายข้อที่ยังคงเป็นข้อสงสัยในทางปฏิบัติ ซึ่งทางสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างกำลังพยายามหาความชัดเจนในเรื่องนี้อยู่ รวมถึงการเยียวยาผู้ประกอบการของภาครัฐด้วย แน่นอนว่าการตัดสินใจประกาศหยุดงานและปิดแคมป์คนก่อสร้าง มีผลกระทบกับค่าใช้จ่ายที่บริษัทยังต้องมีและขาดรายได้ จากการทำงานตามสัญญา ซึ่งคงต้องหารือในรายละเอียดต่อไป

“ในส่วนนักลงทุน คงปฏิเสธไม่ได้ว่า อาจมีค่าใช้จ่ายที่มากกว่าประมาณการที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้อาจไม่เป็นเป็นตามเป้าหมาย 100% แต่นโยบายคือ จะดูแลทุก stakeholder ในทุกภาคส่วนให้ดีที่สุดในสถานการที่อาจถือว่าอยู่ในช่วงไม่ปกติ”

 

รฟม.ยอมรับเสียหายหนัก

นายกิตติกร ตัณเปาว์ รองผู้ว่าวิศวกรรมและการก่อสร้างการรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของรฟม.นั้น ได้มอบหมายให้ที่ปรึกษาฯ กำชับผู้รับจ้างก่อสร้างทุกโครงการ ให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดและประกาศของภาครัฐในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานก่อสร้างในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งเร่งประเมินสถานการณ์และผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในภาพรวม รวมถึงดำเนินการปรับแผนงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และมีผลกระทบต่อระยะเวลาตามสัญญาให้น้อยที่สุด

เบื้องต้นประเมินว่าจะได้รับผลกระทบในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าฯ เนื่องจากรฟม.มีแคมป์คนงานก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสาย ซึ่งจะหารือกับผู้รับเหมาก่อสร้างเพื่อประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวอีกครั้ง

อุตก่อสร้างร้องนายกฯขอขยายสัญญา

นางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า เมื่อปลายปี 2563 จากสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทางสมาคมฯได้ทำหนังสือขอเยียวยากับภาครัฐไปครั้งหนึ่งแล้ว แต่ทางภาครัฐเห็นว่าผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างไม่ได้รับผล
กระทบ จึงไม่ได้รับการอนุมัติขยายสัญญาโครงการฯ รวมทั้งติดปัญหาด้านการตีความพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ปี 2560

เมื่อมีการสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างครั้งนี้ ทำให้กระทบต่อการก่อสร้างที่ล่าช้าออกไป ทางสมาคมฯจะมีการหารือกับภาครัฐ เพื่อทำหนังสือการขอขยายสัญญาการก่อสร้างโครงการของภาครัฐต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง รวมทั้งการขอเยียวยาแรงงาน ผู้ประกอบการให้ครอบคลุมถึงการขยายสัญญาโครงการก่อสร้างด้วย

วิศวกรห่วงความปลอดภัย

รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์สาขาวิศวกรรมปฐพี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การประกาศปิดไซต์งานก่อสร้างในโครงการที่มีงานขุดระดับลึกในกรุงเทพฯ อย่างกะทันหัน อาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัย ต่อเเรงดันดินเเละเเรงดันน้ำสามารถดันทะลุก้นบ่อขุดขึ้นมาเเล้วทำลายสิ่งค้ำยันต่าง ๆ พังลง เเล้วทำให้บ่อขุดยุบพัง ส่งผลให้บ้านข้างเคียงได้รับผลกระทบ เพราะไม่มีวิศวกรดูแล เหมือนกับภาวะปกติ โดยเฉพาอย่างยิ่งไซต์ที่กำลังขุดในระดับลึกสุดเเละยังไม่ได้เท base slab ถือเป็นเรื่องอันตรายมาก

ดังนั้น อยากขอเสนอให้ ศบค. ออกประกาศเพิ่มเติมเกี่ยวกับการหยุดไซต์งาน ให้มีข้อยกเว้นด้านเวลาสำหรับไซต์ที่ต้องการเวลาในการจัดการด้านความปลอดภัยต่างๆก่อนจะปิดไซต์ยาว ๆ เพราะถ้าปล่อยให้เกิดเหตุขึ้น ใครจะรับผิดชอบ ถ้าไม่ใช่ผู้ประกอบการเอง 

 

ที่มา: หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,692 วันที่ 1 - 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2564