นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า โครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีระยะทาง 323.10 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 72,921 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 72 เดือน ( 6 ปี) ปัจจุบันรฟท. ได้ทำการเปิดประมูลตามมติครม.ไปแล้ว แต่มีการคัดค้านโครงการ เรียกร้องให้มีการตรวจสอบและให้ชะลอการประมูล หรือยกเลิกและจัดทำทีโออาร์ จัดการประมูลขึ้นใหม่ โดยอ้างมีข้อสงสัย กำหนดทีโออาร์เอื้อประโยชน์ให้กลุ่ม ผู้รับเหมารายใหญ่ มีการฮั้วราคา ทำให้รัฐเสียประโยชน์ เนื่องจากมีการเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเพียง 60 ล้านบาท ซึ่งทุกประเด็นข้อสงสัย รฟท.ได้มีการชี้แจง ข้อเท็จจริง ว่าได้ดำเนินการโครงการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 และดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มีการจัดทำราคากลางคำนึงถึงประโยชน์ของภาครัฐและประเทศชาติเป็นสำคัญ โดยใช้ราคากลางเดือนตุลาคม 2563 ที่ รฟท.ไม่ได้ปรับราคาใหม่ หากใช้ราคากลางใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งเป็นเดือนที่ประมูลงานนี้ ค่าก่อสร้างรวมทั้งโครงการจะมีมูลค่าสูงขึ้นกว่า 4,600 ล้านบาท จึงทำให้รัฐประหยัดงบเงินได้ถึง 4,600 ล้านบาท
ทั้งนี้โครงการมีการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนไปแล้ว และเปิดประมูลแล้ว ด้วยค่าก่อสร้างกว่า 7.2 หมื่นล้านบาทจะเป็นเม็ดเงินที่จะลงสู่ระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับฐานราก ที่จะเกิดการเกิดการจ้างแรงงาน สร้างงาน กระจายรายได้ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดีในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในขณะนี้ และเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ โครงการเปิดให้บริการ จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการทำมาค้าขาย ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับประชาชนในจังหวัด ช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดน ช่วยกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทาง
“หากเปิดประมูลใหม่ แน่นอน จะต้องจัดทีโออาร์ใหม่ ทำราคากลางใหม่ ใช้ต้นทุนปี 2564 ซึ่งราคากลางจะปรับเพิ่มสูงขึ้นแน่นอน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน ราคาวัสดุหลักต่างๆที่ผันผวนอย่างมากจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะราคาเหล็ก ที่พบว่ามีการปรับเพิ่มสูงขึ้นจากเดือน ตุลาคม 2563 แล้วมากกว่า 40% อีกทั้งการเปิดประมูลใหม่ จะทำให้เกิดความล่าช้า และต้องเลื่อนโครงการออกไปอีกหลายปี ทำให้ประเทศเสียโอกาสในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ การประมูลใหม่ ด้วยราคาใหม่ที่แพงกว่าเดิม สุดท้ายกลุ่มทุนผู้รับเหมาได้ประโยชน์จะมีใครรับผิดชอบหรือไม่”
สำหรับแนวเส้นทางโครงการฯ มีจุดเริ่มต้นจากสถานีเด่นชัย จ.แพร่ มุ่งหน้าขึ้นเหนือผ่านจังหวัด ลำปาง พะเยาสิ้นสุด ที่บริเวณด่านพรมแดนเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นเส้นทางที่จะเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่ง จากจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า ที่ อ.เชียงของ สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 ไปยัง เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว และ จีนตอนใต้ ที่เมืองคุนหมิง สนับสนุนการพัฒนาจังหวัดภาคเหนือเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับ อ. เชียงของเป็นโลจิสติกส์ฮับของภาคเหนือ และส่งเสริม จ.เชียงรายเป็นเมืองโลจิสติกส์ (Logistic City) ของภูมิภาคในอนาคต ขณะที่ สามารถเชื่อมโยงจากประเทศจีนตอนใต้ ผ่านลาว มาไทยไปยังท่าเรือแหลมฉบัง รองรับการพัฒนาพื้นที่อีอีซี ได้อย่างสะดวก
ทั้งนี้เส้นทางรถไฟสายดังกล่าวเป็นเส้นทางต้องผ่านภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูง และเขตอุทยาน จึงมีการออกแบบก่อสร้างเป็นคันทางระดับดินและทางรถไฟยกระดับ รวมถึงมีการเจาะภูเขาก่อสร้างอุโมงค์ 4 แห่ง ระยะทางในอุโมงค์ทั้งขาขึ้นและขาล่องรวม 27.03 กิโลเมตร โดยที่ จ.แพร่ มี 2 อุโมงค์ คือ ที่อำเภอสอง โดยอุโมงค์ที่ 1 มีความยาว 1.175 กิโลเมตร อุโมงค์ที่ 2 ความยาว 6.240 กิโลเมตร อุโมงค์ที่ 3 อยู่ที่บริเวณ อ.เมือง จ.พะเยา ความยาว 2.700 กิโลเมตร และอุโมงค์ที่ 4 อยู่ที่ อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย ความยาว 3.400 กิโลเมตร โดยการเจาะอุโมงค์ทะลุภูเขาลอดใต้ผืนป่าอุทยาน ถึง 4 อุโมงค์ นอกจากเป็นเป็นไฮไลท์สำคัญของการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของแล้ว ยังจะสร้างสถิติใหม่ เป็นอุโมงค์รถไฟที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งจะลดระยะเวลาในการเดินทางได้เร็วกว่า 1 ชม.-1.30 ชม. เมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยรถยนต์อีกด้วย จึงเป็นเส้นทางรถไฟแห่งอนาคต ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งด้านการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจการค้า สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ที่เส้นทางตัดผ่าน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง