สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า สหรัฐฯ ได้ระงับการจ่ายเงินสนับสนุนต่อ องค์การการค้าโลก (WTO) ตามรายงานจากแหล่งข่าวด้านการค้า 3 รายที่ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวรอยเตอร์ ขณะที่รัฐบาลของ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เดินหน้าลดรายจ่ายของรัฐบาลกลาง
รัฐบาลทรัมป์มีท่าทีถอนตัวจากสถาบันระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่มองว่าขัดแย้งกับนโยบายเศรษฐกิจ "อเมริกาต้องมาก่อน" (America First) โดยมีแผนถอนตัวจากบางองค์กร เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) และลดเงินสนับสนุนต่ออีกหลายแห่งในระหว่างการทบทวนการใช้จ่ายของรัฐบาลกลาง
WTO เคยได้รับผลกระทบอย่างมากตั้งแต่ปี 2019 ในช่วงวาระแรกของทรัมป์ จากการที่สหรัฐฯ ขัดขวางการแต่งตั้งผู้พิพากษาใหม่เข้าสู่คณะอุทธรณ์ของ WTO ทำให้ระบบการระงับข้อพิพาทที่สำคัญไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ โดยมีการกล่าวหาว่าคณะอุทธรณ์ของ WTO แสดงบทบาททางตุลาการเกินขอบเขตในคดีความทางการค้า
WTO ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในนครเจนีวา มีงบประมาณประจำปี 2024 อยู่ที่ 205 ล้านฟรังก์สวิส (ประมาณ 232.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยสหรัฐฯ มีกำหนดจะจ่ายเงินสนับสนุนราว 11% ของยอดรวมทั้งหมด อ้างอิงจากเอกสารสาธารณะของ WTO ซึ่งคำนวณตามสัดส่วนการค้าของประเทศสมาชิก
ผู้แทนของสหรัฐฯ ได้แจ้งต่อที่ประชุมงบประมาณของ WTO เมื่อวันที่ 4 มีนาคมว่า การชำระเงินสำหรับงบประมาณปี 2024 และ 2025 ได้ถูกระงับไว้ระหว่างการทบทวนการจ่ายเงินสนับสนุนต่อองค์กรระหว่างประเทศ โดยจะมีการแจ้งผลให้ WTO ทราบในภายหลัง แหล่งข่าว 2 รายซึ่งมีข้อมูลโดยตรงจากการประชุมระบุ
แหล่งข่าวที่รายที่ 3 ยืนยันข้อมูลดังกล่าว และเสริมว่า WTO กำลังวางแผนสำรอง หากการระงับเงินสนับสนุนดำเนินไปเป็นเวลานาน แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม
รายงานระบุว่า ทั้งสามแหล่งข่าวขอไม่เปิดเผยตัวตน เนื่องจากการประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมภายใน และสหรัฐฯ ยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการระงับการจ่ายเงิน
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า เมื่อเดือนที่แล้ว ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order) สั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มาร์โก รูบิโอ ดำเนินการทบทวนองค์กรระหว่างประเทศทั้งหมดที่สหรัฐฯ เป็นสมาชิกภายใน 180 วัน เพื่อพิจารณาว่าองค์กรใดขัดแย้งกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ หรือไม่
การจัดสรรงบประมาณให้กับ WTO และองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ กำลังอยู่ระหว่างการทบทวน
อิสมาอิลา ดิแอง โฆษกของ WTO ระบุว่า การชำระเงินจากสหรัฐฯ กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ แต่ถูกชะลอไปพร้อมกับการระงับการจ่ายเงินทั้งหมดต่อองค์กรระหว่างประเทศ
โดยทั่วไป การค้างชำระอาจส่งผลกระทบต่อศักยภาพในการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการ WTO อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สำนักงานยังคงบริหารจัดการทรัพยากรอย่างรอบคอบ และมีแผนรองรับเพื่อให้ดำเนินการได้ภายใต้ข้อจำกัดทางการเงินจากการค้างชำระ
ดิแอง กล่าว และแนะนำให้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากทางการสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน ตามเอกสารของ WTO ที่รอยเตอร์ได้รับ ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ระบุว่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2024 สหรัฐฯ มีหนี้ค้างชำระรวม 22.7 ล้านฟรังก์สวิส (ประมาณ 25.70 ล้านดอลลาร์)
รอยเตอร์ระบุว่า ภายใต้กฎของ WTO หากประเทศสมาชิกใดไม่ชำระค่าธรรมเนียมสมาชิกเป็นเวลากว่าหนึ่งปี จะถูกจัดอยู่ในมาตรการทางการบริหาร ซึ่งเป็นขั้นตอนลงโทษที่เข้มงวดขึ้นเรื่อย ๆ ตามระยะเวลาการค้างชำระ
แหล่งข่าว 2 รายยืนยันกับรอยเตอร์ว่า สหรัฐฯ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มแรกจากทั้งหมดสามระดับของการค้างชำระ ซึ่งหมายความว่าผู้แทนของสหรัฐฯ จะไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานในหน่วยงานของ WTO และไม่สามารถเข้าถึงเอกสารทางการได้
อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถยืนยันได้ว่า WTO ได้เริ่มใช้มาตรการลงโทษดังกล่าวกับสหรัฐฯ แล้วหรือไม่
วิลเลียม ไรน์ช อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และปัจจุบันอยู่ที่ศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษานานาชาติ (CSIS) กล่าวว่า เชื่อว่าสหรัฐฯ จะชำระเงินสนับสนุน WTO ในที่สุด โดยชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลทรัมป์ได้เสนอชื่อทูตสหรัฐฯ ประจำ WTO แล้ว ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการที่จะยังคงมีส่วนร่วมกับองค์กร
โฆษก WTO ดิแอง ยืนยันว่า ประธานคณะกรรมการงบประมาณได้แจ้งต่อประเทศสมาชิกว่า สหรัฐฯ ปัจจุบันถูกจัดอยู่ใน "กลุ่มค้างชำระระดับ 1" เช่นเดียวกับประเทศสมาชิกอื่น ๆ
เอกสารลับของ WTO ยังระบุว่า ณ สิ้นปี 2024 มีอีก 5 ประเทศที่อยู่ในกลุ่มค้างชำระระดับ 1 ได้แก่ โบลิเวีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก จิบูตี กาบอง และแกมเบีย โดยยอดเงินค้างชำระทั้งหมดรวม 38.4 ล้านฟรังก์สวิส ซึ่งรวมถึงค่าธรรมเนียมที่ยังไม่ได้จ่ายในปี 2024 และก่อนหน้า