จุดจบ “DRC ตีนเหยียบของยางก้อนถ้วย"  ดัดหลัง พ่อค้ากดราคา ได้จริงหรือ

03 ก.ค. 2564 | 07:53 น.

บอร์ด กยท.  ปิดจุดอ่อน “DRC ตีนเหยียบของยางก้อนถ้วย"  ไขทางออก 3 มาตรการ แผนด่วน-ระยะยาว “ผลิตยางก้อนถ้วยแห้ง  เชิญชวนเข้าร่วมโครงการชะลอขายยาง-ผลิตเครื่องมือวัด” ดัดหลังพ่อค้ากดราคา เอาเปรียบเกษตรกร

สุุนทร รักษ์รงค์

นายสุนทร รักษ์รงค์ กรรมการ การยางแห่งประเทศไทย และในฐานะเลขาธิการ สภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในช่วงเมื่อเดือนตุลาคม ในปี 2562 ตอนนั้น “ยางก้อนถ้วยถูก” มากราคา 30 บาทต่อกิโลกรัม จำได้ไหมว่าในขณะนั้น มีโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 ได้รับเงินชดเชย รายละ 40,000-60,000 บาท ที่ 25 ไร่ ของยางทุกชนิด ในขณะที่วันนี้ ราคายางก้อนถ้วย 42 บาท ที่ DRC100%

 

“การทำยางก้อนถ้วยในภาคเหนือและอีสาน เก็บยางประมาณ 12-15 วัน กรีด 6-8  มีด กรีด 2 วัน เว้น 1 วัน  ส่วนภาคใต้ กรีดแค่ 3-4 มีดก็เต็มจอกเพราะไม่ค่อยหยอดกรดทำให้ยางบวมมีน้ำเยอะ แต่ก็มีบางพื้นในภาคใต้เริ่มทำยางก้อนถ้วยแบบภาคเหนือและภาคอีสาน 6-8 มีด การใส่กรดฟอร์มิก บางรายไม่ได้ใส่ทุกครั้ง ถ้าอากาศร้อนยางจะจับตัวเร็วก็ไม่ใส่ แต่ถ้าแนวโน้มจะมีฝนก็จะใส่กรดทุกครั้ง ที่ภาคเหนือและอีสานส่วนใหญ่จะหยอดกรดและคนทุกครั้ง ภาคใต้มีวัฒนธรรมมองยางก้อนถ้วยเป็นขี้ยางเลยไม่ให้ความสำคัญการใส่กรด”

 

นายสุนทร  กล่าวว่า ในช่วงหน้าหนาว DRC จะต่ำกว่าหน้าร้อนเพราะน้ำเลี้ยงออกเยอะ ขนาดยางก้อนถ้วยในหน้าหนาวในจอกยาง 1-1.5 ลิตร ดูมีขนาดเกือบเท่ากับหน้าร้อน แต่ปริมาณยางแห้งไม่เท่ากัน เพราะยางข้างในก้อนเป็นฟอง DRC ในยางก้อนถ้วยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย พันธุ์ยาง อายุยาง ภูมิอากาศ ภูมินิเวศ ช่วงเปิดหรือปิดกรีด กรีดกี่มีด เช่น ถ้าอายุยาง 10 ปีขึ้นไป ค่า DRC จะสูงกว่ายางอายุน้อย เพิ่งเปิดฤดูกาลกรีด DRC จะต่ำกว่าการกรีดไปได้ช่วงหนึ่ง หน้าหนาว DRC จะต่ำกว่าหน้าร้อน เป็นต้น และพ่อค้าจะรู้ข้อมูลทั้งหมด หลอกพ่อค้าไม่ได้

 

“ยางก้อนถ้วย” ในภาคเหนือและอีสานมีคุณภาพดีกว่าภาคใต้ ค่า DRC อยู่ระหว่าง 52-54% หรือมากกว่านั้น ภาคใต้ DRC 50% หรือต่ำกว่า แต่ถูกพ่อค้าใช้วิธีดูด้วยตาเปล่าหรือ DRC ตีนเหยียบ(เท้าเหยียบดูน้ำในก้อนยางและสียางก้อนถ้วย) ดังนั้นภาคเหนือและภาคอีสาน พ่อค้าจะกดราคาซื้อที่ DRC 51-53% ภาคใต้ พ่อค้าจะกดราคาซื้อที่ DRC 48-49%

 

สมมติราคาเปิดโรงงาน DRC 100% วันนี้ 42 บาท ในภาคเหนือและอีสาน ถ้า 8 มีดพ่อค้าจะคิด DRC ประมาณ 53% รับซื้อ 22-23 บาท ถ้า 6 มีดรับซื้อ 21-22 บาท ส่วนภาคใต้ 4 มีด DRC 50% พ่อค้ารับซื้อ 19-20 บาท ในบางพื้นที่ภาคใต้ถ้าใส่เปลือกจะถูกกดราคาไปอีก

 

ส่วนพ่อค้ามีต้นทุน ค่าขนส่ง ค่าบริหารจัดการ และต้องการกำไร โดยมีช่องว่างของราคา 2-3 บาท บางโรงงานให้เปิดราคาล่วงหน้าเป็นเดือน ทำสัญญาทั้งปริมาณและราคา บางโรงงานเปิดราคาล่วงหน้าแค่ 3 วัน บางครั้งก็ต้องไปขายสดหน้าโรงงานรายวัน จะขาดทุนกำไรก็ขึ้นอยู่กับฝีมือของพ่อค้าที่จะดำเนินการทางธุรกิจอย่างไร

 

พ่อค้าไปขายโรงงาน 2 วันครั้ง ที่ DRC 62-63% ถ้า 7 วันขายครั้ง DRC 64-66% ถ้าพ่อค้าจากภาคเหนือส่งไปขายในภาคใต้ DRC 68-70% ในภาคเหนือและอีสาน มีโรงงานอยู่ใกล้ๆ ขนส่งไปขายน้ำหนักยางจะหาย 9-10% ต้นทุนค่าขนส่ง 0.50-1 บาท แต่ถ้าขนส่งมาขายภาคใต้ น้ำหนักจะหาย 18% ต้นทุนค่าขนส่ง 1.5-2 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางใกล้ไกล


 

ยางก้อนถ้วย

 

นายสุนทร กล่าวว่า โรงงานรับซื้อตามเปอร์เซ็นต์ DRC เวลาโรงงานสุ่มตัวอย่างยางก้อนถ้วยไปตรวจค่า DRC ด้วยวิธีการการอบแห้ง เขาจะปิดบังไม่ให้พ่อค้ารับรู้กระบวนการวัดค่า DRC ปัจจุบันจากสถานการณ์โควิดโรงงานก็ฉวยโอกาสกด DRC ลง 2-3% ใครเป็นพ่อค้ารายใหญ่หรือเบอร์ 1 จะต่อรอง DRC และราคาได้ ดังนั้นพ่อค้ารายใหม่เบอร์ 2-3 บางคนขาดทุนก็มีมากมาย

 

“เรื่องยางก้อนถ้วยผมกำลังรวบรวมข้อมูลทำวิจัย และจะบอกว่าโรงงานกินหมูเนื้อแดงมาอย่างยาวนาน พี่น้องชาวสวนยางภาคเหนือและอีสานถูกพ่อค้ากดขี่ราคายางก้อนถ้วยอย่างน่าสงสาร จากวิธีวัดค่า DRC ด้วยตาเปล่าหรือแบบเท้าเหยียบ แต่ยังไม่มีใครลุกขึ้นสู้อย่างเป็นระบบและจริงจัง เพื่อไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบค่า DRC และความไม่เป็นธรรมด้านราคายางก้อนถ้วย ที่แตกต่างจากราคายางแผ่นดิบอย่างผิดปกติถึง 9-10 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งๆที่ควรแตกต่างเพียง 5-6 บาท (ข้อมูลถัวเฉลี่ย 3 ปีที่ผ่านมา)

 

ตอนนี้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กำลังศึกษาแนวทางการผลิตและช่องทางการตลาด การทำยางเครปรมควันจากยางก้อนถ้วย เพื่อลดการแปรรูปเป็นยางแท่ง(STR20)ที่มีส่วนต่างทางการตลาดน้อย เพราะราคายางเครปรมควันมีราคาสูงกว่ายางแท่งและแตกต่างจากราคายางแผ่นรมควันไม่มากนัก ตลอดจนเรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องที่ตลอดทุกห่วงโซ่อุปทานต้องตระหนัก ทั้งปัญหาเรื่องกลิ่นและผลกระทบด้านอื่น ปัจจุบันมีการใช้จุลินทรีย์ ใช้กากน้ำตาล ใช้น้ำส้มควันไม้ แก้ปัญหาเรื่องกลิ่น และต้องมีบ่อบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐาน เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อชุมชนรอบข้าง

 

อย่างไรก็ดี ทางออกจากปัญหาDRCตีนเหยียบ 1.ทำยางก้อนถ้วยแห้ง ตอนนี้ยังไม่มีเครื่องมือที่ดีในการวัด DRC ภาคสนาม หรือขั้นตอนการขายยางจากเกษตรกรไปยังพ่อค้า ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหา DRC ตีนเหยียบ ให้พี่น้องชาวสวนยางทำยางก้อนแห้ง DRC 75% คือเก็บยางไว้ประมาณ 1 เดือน ลำบากแค่เดือนแรก

 

พอเดือนถัดไปก็เข้ารอบขายยางก้อนถ้วยแห้งเหมือนขายยางเปียกทุก 15 วัน ที่การกรีด 8 มีด เพราะ DRC 75% พ่อค้าจะกด DRC ไม่ได้ เหยียบอย่างไรก็น้ำไม่ออก ตอนนี้ราคายางก้อนถ้วยแห้ง DRC 75% ราคา 31-32 บาทต่อกิโลกรัม แต่ช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมา DRC 75% ราคาสูงถึง 37 บาทต่อกิโลกรัม

 

2.เข้าร่วมโครงการชะลอการขายยางก้อนถ้วย  การชะลอการขายยางก้อนถ้วย เป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางก้อนถ้วย ของการยางแห่งประเทศไทย เป็นการผสมผสานระหว่างการเก็บยางไว้ใต้ถุนกับการรับจำนำยาง โดยใช้กลไกสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง มีการทำโครงการนำร่องในพื้นที่ภาคเหนือเมื่อปีที่ผ่านมา

 

“สำเร็จอย่างงดงาม เกษตรกรขายยางก้อนถ้วยได้ราคาเพิ่มขึ้น 4.5 บาท หรือมีรายได้สูงขึ้นเกือบ 20%(รวมปันผลปลายปีจากสถาบัน) และสามารถต่อรองราคา ป้องกันการฉวยโอกาสกดราคาของพ่อค้า ตอนนี้โครงการชะลอการขายยางก้อนถ้วยขยายไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะในภาคอีสาน ที่มีปริมาณยางก้อนถ้วยปีละ 1 ล้านตัน และใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้”

 

กยท.อนุมัติงบประมาณให้ทุกเขตทำโครงการชะลอการขายยางก้อนถ้วย เพื่อให้สถาบันได้ฝึกฝนการเป็นผู้ประกอบการที่ชาญฉลาด สถาบันใดเก่งหมุนรอบเร็ว เงินทุนก็จะเพิ่มมูลค่ามากขึ้น และมีเงินสดให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 80% เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ในช่วงการชะลอการขายยาง บางสถาบันนำยางก้อนถ้วยแห้งแปรรูปเป็นยางแท่ง แล้วนำไปผลิตเป็นแบริเออร์ ตามนโยบายของรัฐบาล

 

3.เครื่องมือวัดDRCยางก้อนถ้วย  กำลังศึกษาข้อกฎหมายเพื่อให้มีเครื่องมือวัดค่า DRC ยางก้อนถ้วย ที่โปร่งใสเป็นธรรมเพื่อลดการเอาเปรียบจากพ่อค้า แม้กระทั่งการเปิดข้อมูลที่แท้จริงของการวัด DRC ระหว่างพ่อค้ากับโรงงาน โดยการใช้กฎหมายควบคุม