นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้ดำเนินการเข้าลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่กับกลุ่ม วีอาร์บี เอนเนอร์ยี่ (VRB Energy) ผู้คิดค้นนวัตกรรมสีเขียวชั้นนำของโลกที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจวิจัย ผลิตและติดตั้งแบตเตอรี่ประเภทวานาเดียมรีดอกซ์โฟลว์ รวมถึงยังมีสิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญาหลายประการที่เกี่ยวข้องกับส่วนประกอบ และระบบของแบตเตอรี่ประเภทวานาเดียมรีดอกซ์โฟลว์ ในประเทศจีน อเมริกา และบางประเทศในเอเชีย
ทั้งนี้ แบตเตอรี่รีดอกซ์โฟลว์ (Redox Flow) ของบริษัท วีอาร์บี เอนเนอร์ยี่ เป็นแบตเตอรี่ประเภทหนึ่งที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในปัจจุบัน เพราะเป็นแบตเตอรี่ที่มีความเสถียร มีต้นทุนต่อหน่วยต่ำ และมีอายุการใช้งานยาวนานที่สุด สามารถเก็บสำรองไฟฟ้าได้เป็นเวลานาน มีความปลอดภัย และมีความสม่ำเสมอในการจ่ายไฟฟ้าได้ดี นอกจากนั้นส่วนประกอบส่วนใหญ่ของแบตเตอรี่ยังสามารถนำไปรีไซเคิลได้ ตอบโจทย์การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปอย่างยั่งยืน
แบตเตอรี่รีดอกซ์โฟลว์ (Redox Flow) ของบริษัท วีอาร์บี เอนเนอร์ยี่ เป็นแบตเตอรี่ที่เหมาะสมกับการใช้งานในระดับระบบกักเก็บขนาดใหญ่หรือ Utility Scale เพื่อเชื่อมต่อกับระบบสายส่ง เพื่อรองรับระบบเครือข่ายการผลิตพลังงานไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Generation) หรือโรงไฟฟ้าเสมือนจริง (Virtual Power Plant) ซึ่งเป็นแนวทางการประกอบธุรกิจพลังงานทดแทนในอนาคต ตอบโจทย์ธุรกิจการลงทุนของบริษัทฯ ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ทั้งภายในและต่างประเทศ เป็นการสร้าง Synergy ทำให้บริษัทฯ เข้าถึงเทคโนโลยีกักเก็บพลังงานไฟฟ้า และสามารถนำมาประยุกต์ร่วมกับการพัฒนาโครงการลงทุนอื่นๆ ในอนาคตได้
“จากการคาดการณ์ของ Bloomberg NEF แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่กำลังเข้าสู่ช่วงเริ่มต้นของการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะในประเทศจีน และภูมิภาคเอเชีย ซึ่งการเข้าไปลงทุนในบริษัทผลิตและจัดจำหน่ายแบตเตอรี่ในครั้งนี้ นอกจากจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในอัตราที่น่าพอใจแล้ว ยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเติบโตในอนาคต เนื่องจากบริษัทฯ จะได้รับสิทธิในการขยายไปยังธุรกิจการผลิตและจัดจำหน่ายแบตเตอรี่ในประเทศไทย ช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันจากการเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยี อีกทั้งบริษัทฯ ยังสามารถนำเทคโนโลยีระบบจัดเก็บพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่มาต่อยอดใช้กับโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก"
นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากการลงทุนครั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม “ลมลิกอร์” ของบีซีพีจีเป็นโครงการโรงไฟฟ้านำร่องภาคเอกชนรายแรกในประเทศไทยที่นำระบบจัดเก็บพลังงานไฟฟ้า (Energy Storage System:ESS) มาใช้ควบคู่กับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม เพื่อเก็บสำรองพลังงานส่วนเกินที่ผลิตได้ และจ่ายไฟฟ้ากลับเข้าไปยังสายส่งในช่วงเวลาที่ผลิตไฟฟ้าได้น้อย ทำให้ระบบสายส่งมีความเสถียร สร้างสมดุลระหว่างดีมานด์และซัพพลาย โดยโครงการดังกล่าวได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้เข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) และล่าสุด การจัดหาเงินกู้ของโครงการฯ ยังได้รับรางวัล “The Asset Triple A Infrastructure Awards 2021” สาขา “Battery Storage Deal of The Year” จัดโดย “The Asset” นิตยสารธุรกิจการเงินชั้นนำของเอเชียอีกด้วย
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2564 บริษัท วีอาร์บี เอนเนอร์ยี่ (VRB Energy) ได้ลงนามในสัญญากับเทศบาลเมืองเซียงหยาง เพื่อเป็นผู้จัดหาและติดตั้งแบตเตอรี่ ขนาด 100 MW / 500 MWh สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเมืองเซียงหยาง จังหวัดหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวยังรวมถึงโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตและประกอบแบตเตอรี่กำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ต่อปี (Gigafactory) โดยในขณะนี้ VRB อยู่ระหว่างการดำเนินการผลิตแบตเตอรี่เฟสแรกขนาด 40MW / 200MWh และก่อสร้างโรงงานผลิตและประกอบแบตเตอรี่ขนาด 50 เมกะวัตต์ต่อปี
"ปัจจุบัน แนวโน้มธุรกิจพลังงานทดแทนของโลก มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งจากนโยบายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของภาครัฐ และจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังมีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ด้วยข้อจำกัดในด้านความผันผวนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน อย่างเช่นพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ทำให้โรงไฟฟ้าจำเป็นต้องพึ่งพาระบบกักเก็บพลังงานเพื่อการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องและสร้างเสถียรภาพให้กับระบบสายส่ง นอกจากนั้นระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่ยังสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงไฟฟ้าสำรองขนาดใหญ่เพื่อรองรับช่วงเวลาที่มีความต้องการการใช้ไฟฟ้าสูง ของภาครัฐ (Peak Shifting) ดังนั้นระบบจัดเก็บพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ (Utility-Scale Energy Storage System) หรือแบตเตอรี่ คือหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้พลังงานทดแทนสามารถเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าหลักของประเทศได้อย่างมั่นคง"