กรณีที่ค่าเงินบาททำสถิติอ่อนค่ามากสุดในรอบ 13 เดือน อยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ(ณ 30 มิ.ย.64)นั้น นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ยังไม่สามารถประเมินได้ในระยะสั้นว่าจะส่งผลอย่างไรบ้าง เพราะค่าบาทเพิ่งอ่อนค่าลง 1-2 วันเท่านั้น คงต้องสัปดาห์หน้าถึงจะประเมินได้ว่าเป็นการอ่อนค่าที่สุดในภูมิภาคนี้หรือไม่ ยังเร็วไปที่จะตอบในเวลานี้ แต่แน่นอนว่าเงินบาทที่อ่อนค่าย่อมส่งผลดีต่อภาคการส่งออกในช่วงนี้เพราะทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาดีขึ้น แต่ค่าเงินบาทก็เป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยบวกในช่วงหนึ่ง ยังมีปัจจัยบวกอื่นที่ช่วย เช่น เศรษฐกิจโลกที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว ทำให้หลายประเทศมีการสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น
ส่วนปัจจัยลบนอกเหนือจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ที่ระบาดไปในหลายโรงงานแล้ว ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่แม้ว่าจะเริ่มคลี่คลายแต่ก็ยังไม่ 100% รวมถึงค่าระวางเรือที่ยังอยู่ระดับสูง และวัตถุดิบขาดแคลน เช่น ชิป เป็นต้น แต่ปัญหาที่เอกชนกังวลในขณะนี้คือ การขาดแคลนแรงงานจำนวนมากในภาคการผลิตเพื่อส่งออกโดยยังขาดอยู่มากกว่า 2 แสนคน ในขณะที่แรงงานในระบบตอนนี้มีเพียง 1 ล้านคน จากเดิมมีแรงงานในระบบถึง 2 ล้านคน ซึ่งมีแรงงานที่ออกจากระบบไปมากกว่า 6 แสนคน ไม่ว่าจะเป็นการลาออกเอง เลิกจ้าง กลับประเทศ เพราะปัญหาเศรษฐกิจ หรือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทำให้แรงงานเหล่านี้หายออกไปจากระบบจำนวนมาก ซึ่งกำลังเป็นปัญหาของภาคเอกชน ขณะสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐในขณะนี้คือ การเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด และคุมการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุด
“สรท.คงเป้าการส่งออกปีนี้ขยายตัว 6-7% โดยหากการส่งออกไตรมาส 2 ขยายตัว 15% หรือมีมูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์ และการส่งออกเฉลี่ยทุกเดือนจากนี้ถึงสิ้นปีได้เดือนละ 21,000 ล้านดอลลาร์ จะทำให้ทั้งปีขยายตัว 7% ซึ่งสรท.จะมีการแถลงตัวเลขการส่งออกในวันที่ 6 ก.ค.นี้ เพื่อประเมินทิศทางส่งออกและค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในขณะนี้ด้วย ทั้งนี้เอกชนมองว่า ค่าบาทในระดับ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐถือว่าเป็นระดับที่น่าพอใจและสามารถแข่งขันได้ เชื่อว่าแบงก์ชาติจะมีมาตรการและแนวทางในการรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้คงที่”
สอดคล้องกับนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ที่กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในเวลานี้ ถือเป็นการอ่อนค่าที่สมดุลกับค่าเงินในภูมิภาค แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าค่าบาทไทยจะอ่อนกว่าประเทศอื่น เพราะยังมีความผันผวน แต่แน่นอนว่า การที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจะส่งผลดีต่อการส่งออกไทยในช่วงนี้อย่างมาก เพราะในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาค่าบาทไทยแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค ทำให้มีต้นทุนสินค้าสูงถึง 17% ดังนั้นผู้ส่งออกถ้าไม่อยากขาดทุนก็ต้องปรับราคาขึ้นมา 17% หากไม่ปรับราคาก็จะมีผลต่อการขาดทุนซึ่งผู้ส่งออกไม่ได้อยากมีกำไรจากค่าเงิน แต่ก็ไม่ต้องการที่จะขาดทุนจากค่าเงินเช่นกัน ที่ผ่านมาสินค้าที่เกี่ยวกับเกษตร และอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบหนักมากจากค่าเงิน
“สิ่งที่เอกชนกังวลในขณะนี้นอกเหนือเรื่องโควิดที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายและลามเข้าไปในโรงงานและยังมีเรื่องปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนการผลิตสูงด้วยปัจจัยต่าง ๆ ค่าระวางเรือที่ปรับสูงถึง 2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐต่อตู้ จากเดิมแค่ 3 พันดอลลาร์ต่อตู้ รวมถึงค่าเงินบาทที่ยังผันผวน ซึ่งมองว่าค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในขณะนี้จะเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น ทั้งนี้หอการค้ามองว่า การขยายตัวของส่งออกไทยทั้งปีนี้ จะอยู่ในกรอบ 5-7% ตามที่ กกร.คาดการณ์ไว้ เพราะขณะนี้เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ส่งออกจะขยายตัวมากกว่านี้หรือไม่ต้องประเมินตามสถานการณ์”
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,693 วันที่ 4 - 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2564