นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท. วิงวอนให้รัฐบาลดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อเร่งฉีดวัคซีคให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะแรงงานภาคการผลิตให้เร็วที่สุด เนื่องจากวัคซีนเป็นเครื่องป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 อย่างเดียวที่สามารถช่วยภาคการส่งออกและภาคการผลิตซึ่งเป็นซัพพลายเชนของการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจเดียวที่ยังเดินหน้าต่อไปได้ให้สามารถฟื้นตัวและสนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศให้ยังอยู่รอดได้
ทั้งนี้ สรท. คาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโตมากกว่า 7% และมีโอกาสเติบโตถึง 10 % (ณ เดือนกรกฎาคม 2564) โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญในปี 2564 ได้แก่ 1. การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลก เช่น การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้จ่ายตามปกติ รวมถึง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายการผลิตโลก (world PMI index) ที่อยู่ระดับมากกว่า 50 อย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงการฟื้นตัวของกิจกรรมการผลิตสอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างแข็งแกร่ง
2. ค่าเงินบาทที่เคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า จากปัจจัยความกังวลต่อสถานการณ์ระบาดของโควิดในประเทศไทยที่มีความรุนแรงซึ่งส่งผลลบมุมมองเศรษฐกิจไทย ปี 2564 รวมถึงการแข็งค่าโดยเปรียบเทียบของดอลลาร์สหรัฐ จากการเตรียมยกเลิกนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางสหรัฐ จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเติบโตอย่างมากของเศรษฐกิจสหรัฐ และ3. ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงถึงระดับ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลจากแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐฯ ที่เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ในหลายพื้นที่ รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่ทั่วโลกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง
โดยภาพรวมการส่งออกเดือนพฤษภาคม 2564 มีมูลค่า 23,057 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 41.59% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้าในเดือนพฤษภาคม 2564 มีมูลค่า 22,261 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 63.54% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนส่งผลให้ เดือนพฤษภาคม 2564 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 795 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ส่วนภาพรวมช่วงเดือนม.ค. - พ.ค. ปี 2564 ไทยส่งออกรวมมูลค่า 108,635 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 10.78% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 107,141 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 21.52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ช่วงเดือน ม.ค.- พ.ค. 2564 ประเทศไทยเกินดุลการค้า 1,494 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับ ปัจจัยเสี่ยงในปีนี้ เช่น การแรงงานขาดแคลนซึ่งสวนทางกับเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวทำให้ความต้องการแรงงานในกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้น แรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศและยังไม่ได้เดินทางกลับเข้ามาจากการปิดประเทศ ประกอบกับปัจจุบันจำนวนวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ยังไม่สามารถจัดสรรให้เพียงพอกับจำนวนแรงงานในภาคการผลิตเท่าที่ควร ยิ่งซ้ำเดิมปัญหาการขาดแคลนแรงงานให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น
สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่มีความรุนแรงในประเทศ อาทิ กรณีคลัสเตอร์การระบาดในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ภายในประเทศ เริ่มส่งกระทบต่อกระบวนการผลิตที่ต้องหยุดชะงักชั่วคราวและการเลื่อนส่งมอบสินค้าไปยังประเทศปลายทาง สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจที่อาจฟื้นตัวได้ช้ากว่าเดิมดังจะเห็นได้จากการปรับประมาณการเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศ (GDP) ลดลงจากร้อยละ 3.0 เหลือ 1.8 ในปี 2564 3) ปริมาณปัจจัยการผลิตที่ไม่เพียงพอและมีต้นทุนเพื่มสูงขึ้น
สถานการณ์ชิปขาดแคลนที่ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลกระทบโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่หยุดผลิตในบางรุ่นไปถึง 1 เดือน และคาดว่าจะส่งผลต่อยอดการผลิตรถยนต์ของโลกปีนี้ประมาณ 4 ล้านคัน จากปริมาณผลิตทั้งหมด 78 ล้านคัน ซึ่งประเทศไทยอาจจะได้รับผลกระทบประมาณ 10% รวมถึงต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในเครื่องใช้ไฟฟ้า อาทิ โทรทัศน์ และ Smart phone
ราคาเหล็กในตลาดโลกที่ทรงตัวในระดับสูง เนื่องด้วยปริมาณอุปสงค์การใช้เหล็กที่เพิ่มสูงตามทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก ประกอบกับจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลก มีนโยบายควบคุมโรงงานเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐานปล่อยมลพิษในเมืองถังซานทำให้ปริมาณอุปทานไม่เพียงพอ ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกี่ยวเนื่องที่เพิ่มสูงขึ้น อาทิ วัตถุดิบผลิตกระป๋อง รถยนต์ เครื่องไฟฟ้า แผงโซลาร์ เป็นต้น รวมถึง ปริมาณสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกไม่เพียงพอ อาทิ น้ำตาลทราย จากปริมาณอ้อยที่ลดลงต่อเนื่องจากเดิมสูงสุดถึง 130 ล้านตันเหลือเพียง 66 ล้านตันในรอบปี 2563/64 เนื่องจากเกษตรกรเริ่มหันไปปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน อาทิ มันสำปะหลัง และข้าวโพด เหตุด้วยราคาอ้อยในตลาดโลกที่ทรงตัวในระดับต่ำมานานและภาวะภัยแล้ง
ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลนและอัตราค่าระวางที่ทรงตัวในระดับสูง ค่าระวางที่อยู่ในทิศทางขาขึ้น เกือบทุกเส้นทางโดยเฉพาะเส้นทางสหภาพยุโรป และสหรัฐ เนื่องด้วยปริมาณการขนส่งทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ประกอบกับมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม อาทิ Peak season surcharge (PSS) ซึ่งเป็นต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น เป็นต้น