สรท.คงเป้าส่งออกปี64 ขยายตัว4%มั่นใจศก.โลกเริ่มฟื้นตัว

02 ก.พ. 2564 | 08:11 น.

สรท. คงเป้าส่งออกปี 2564ที่ 4%  หลังมั่นใจเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว  แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงอยู่ทั้งโควิด ขาดแคลนตู้คอนเนอร์ ค่าระวาง ต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น   เสนอรัฐสนับสนุนภาคการส่งออก หวังพยุงเศรษฐกิจให้โต

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท. ยังคงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโตระหว่าง 3-4% โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญในปี 2564 คือ การกลับมาขยายตัวของสินค้าอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าขั้นกลาง ไม่ว่าจะเป็น แผงวงจรไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก ตามทิศทางการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกก่อนกระทบการระบาดครั้งใหม่ อีกทั้งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหาร ผักผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับ work from home จากอานิสงส์ความไม่แน่นอนของการระบาดโควิด-19 ในประเทศคู่ค้า

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

 

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงเป็นการกลับมาแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกครั้ง เห็นได้จากการขยายประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศและการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศคู่ค้าหลายประเทศ  ไม่ว่าจะเป็น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เดนมาร์ก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ช้าลง การจ้างงานของประชาชน และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง   ปัญหา International Logistics เช่น ปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน และระวางเรือไม่เพียงพอ อัตราค่าระวางปรับเพิ่มขึ้น เช่นในเส้นทางยุโรป เดือนธันวาคม 2563 ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 160-220% หรือเส้นทางภายในเอเชีย เพิ่มขึ้น 17-100% และเส้นทางสหรัฐอเมริกา ปรับเพิ่มขึ้น 73-196% ซึ่งจากผลของการปรับขึ้นค่าระวางเรือในหลายเส้นทาง โดยเฉพาะ EU ทำให้ลูกค้าบางรายเริ่มมีการชะลอคำสั่งซื้อออกไป 2-3 เดือน เนื่องจากไม่สามารถยอมรับต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้นเป็นหลายเท่าตัวได้ ทำให้ผู้ส่งออกไทยสูญเสียโอกาสทางการค้า ค่าระวางขนส่งทางอากาศยังคงทรงตัวในระดับสูง โดยเฉพาะในเส้นทาง EU US Japan เป็นต้น  รวมไปถึงค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง

สรท.คงเป้าส่งออกปี64  ขยายตัว4%มั่นใจศก.โลกเริ่มฟื้นตัว

 

 

ทั้งนี้สรท.ได้มีข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลใน มาตรการเร่งด่วน คือ ต้องการให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย เร่งรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปกว่าคู่แข่งที่สำคัญ เร่งแก้ไขปัญหาตู้สินค้าขาดแคลน โดยเร่งรัดการนำเอาตู้สินค้าที่อยู่ในอายัดของกรมศุลกากรกลับมาใช้ประโยชน์ ขอให้ภาครัฐลดค่าภาระท่าเรือเพื่อจูงใจให้มีการนำเข้าตู้เปล่าเข้ามายังประเทศไทย ขอให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือ/อุดหนุนผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้าทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม กรณีที่ไม่สามารถส่งออกและนำเข้าได้จากปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้า เพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ และสามารถจ่ายค่าระวางได้มากขึ้น เป็นต้น