นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) ครั้งที่ 2/2564 ว่า ที่ประชุมได้รับทราบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ คนต. จำนวน 2 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีและสถาปัตยกรรมองค์กร และคณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานอัตราค่าโดยสารและการจัดสรรรายได้ โดยความคืบหน้าในการดำเนินการของอนุกรรมการทั้ง 2 คณะ ดังต่อไปนี้ 1.คณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยีและสถาปัตยกรรมองค์กรโดยที่ผ่านมาผู้ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะมีความพร้อม คณะอนุกรรมการฯ จึงวางแนวการออกแบบมาตรฐานทางเทคโนโลยีระบบตั๋วร่วมให้เป็นแบบการใช้บัญชีระบุตัวตนผู้โดยสาร (Account Based Ticketing: ABT) และบัตรที่ใช้เป็นแบบระบบเปิด (Open Loop) โดยกรอบแนวนโยบายการบริหารจัดการตั๋วร่วม มีการแบ่งเป็นส่วนของผู้ใช้บริการ ส่วนของผู้ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ศูนย์กลางจัดการค่าโดยสาร (Central Clearing House) และส่วนผู้ให้บริการชำระเงิน
สำหรับการกำหนดแผนการดำเนินการเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยในระยะสั้น (ภายในปี 2564) จะสามารถนำระบบตั๋วร่วมแบบ Account Based Ticketing (ABT) มาใช้ได้ ส่วนในระยะกลาง (ภายในปี 2565) จะมีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House: CCH) เพื่อรองรับการใช้อัตราค่าโดยสารร่วม และในระยะยาว (ภายในปี 2566) จะมีการจัดตั้งสำนักงานกลางเพื่อมาทำหน้าที่บริหารจัดการเรื่องตั๋วร่วม พร้อมประกาศใช้พระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมฯ เพื่อสามารถบังคับใช้ระบบตั๋วร่วมกับผู้ประกอบการระบบขนส่งสาธารณะทั้งที่เป็นของรัฐ และของเอกชน
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ส่วนคณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานอัตราค่าโดยสารและการจัดสรรรายได้ ได้สรุปปัญหาเรื่องมาตรฐานอัตราค่าโดยสารในปัจจุบัน ได้แก่ การเก็บค่าแรกเข้าในแต่ละสายไม่เท่ากัน การปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารในแต่ละสายไม่เท่ากัน มีการเก็บค่าแรกเข้าทุกครั้งเมื่อมีการเดินทางข้ามระบบ และโครงสร้างอัตราค่าโดยสารไม่สะท้อนกับระยะทาง
ทั้งนี้แนวทางในการแก้ปัญหาสำหรับสายรถไฟฟ้าที่สัญญาสัมปทานได้ลงนามในสัญญาไปแล้ว คณะอนุกรรมการฯ จะทำการศึกษาหาแนวทางในการแก้ไขสัญญาพร้อมแนวทางการชดเชยกรณีที่มีความจำเป็น แต่สำหรับสายรถไฟฟ้าที่จะมีการลงนามในอนาคต คณะอนุกรรมการฯ จะทำการศึกษาเพื่อกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารที่มีความเหมาะสมเพื่อกำหนดในสัญญาสัมปทานก่อนทำการลงนาม โดยปัจจุบัน คณะอนุกรรมการฯ ได้ทำการศึกษาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารของระบบขนส่งสาธารณะในประเทศไทย และในต่างประเทศ พร้อมทำการวิเคราะห์อัตราค่าโดยสารที่มีความเหมาะสม รวมถึงค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แล้วเสร็จ ขั้นตอนต่อไปที่ต้องดำเนินการคือการสรุปการกำกับดูแล การจัดสรรรายได้ เมื่อมีการใช้อัตราค่าโดยสารร่วม โดยจะสามารถสรุปผลได้ภายในเดือนกันยายน 2564
“ได้มีข้อสั่งการเพิ่มเติมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ โดยมอบคณะอนุกรรมการฯ เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และกรมทางหลวง เพื่อร่วมกันพิจารณาเกี่ยวกับ แนวทางการดำเนินการด้านสิทธิในทรัพย์สินของระบบบริหารจัดการรายได้กลาง (CCH) เพื่อรองรับการดำเนินการภายหลังจากมีการจัดตั้งสำนักงานกลางตั๋วร่วมในอนาคต และพิจารณาแนวทางการกำหนดมาตรฐานในการวิเคราะห์รูปแบบการลงทุนต่าง ๆ รวมถึงพิจารณาทบทวนแนวทางการกำหนดอัตราค่าโดยสาร โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ รวมทั้งพิจารณาแนวทางการลงทุนในระบบ EMV ร่วมกับธนาคารกรุงไทย ที่ในอนาคตจะมีการเปลี่ยนถ่ายไปสู่ระบบ M-Flow ให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานสูงสุด”
นอกจากนี้ในที่ประชุมหน่วยงานที่เป็นผู้ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ได้มีการรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการพัฒนาและประยุกต์ใช้ระบบตั๋วร่วม โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รายงานต่อที่ประชุมว่ากำลังดำเนินการพัฒนาระบบตั๋วร่วมโดยใช้เทคโนโลยี Account Based Ticketing (ABT) โดยในปัจจุบันการออกแบบระบบแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการพัฒนาซอฟแวร์ และติดตั้งระบบ โดยได้ทำการทดสอบระบบครั้งแรกที่สถานีหัวลำโพง และสถานีสนามไชยเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผลปรากฏว่าระบบใช้งานได้ถูกต้อง ตามแผนงานจะดำเนินการทุกอย่างแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2564และสามารถเปิดให้ประชาชนใช้งานระบบได้ในต้นปี 2565
ด้านการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้รายงานที่ประชุมว่ามีการเริ่มใช้บัตรจ่ายเงินที่ใช้เทคโนโลยี Account Based Ticketing (ABT) คล้ายกับที่ รฟม. กำลังพัฒนา โดยเริ่มใช้กับทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพ ทางพิเศษอุดรรัถยา ทางพิเศษศรีรัช ทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) และทางพิเศษเฉลิมมหานคร ไปแล้วนอกจากนี้ระบบตั๋วร่วมแบบ Account Based Ticketing (ABT) ดังกล่าว กำลังทำการติดตั้งเพื่อใช้งานกับรถไฟฟ้าสายสีแดง และทางพิเศษดอนเมืองโทลเวย์ โดยคาดว่าจะสามารถใช้งานได้ภายในสิ้นปี 2564 นี้