ผู้ผลิตอาหารสัตว์ตีแผ่ข้อเท็จจริง“ข้าวโพดอาหารสัตว์” ที่คนไทยควรรู้

10 ก.ค. 2564 | 05:13 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2564 | 13:41 น.

สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยได้นำเสนอบทความเรื่อง ข้อเท็จจริง “ข้าวโพดอาหารสัตว์”ที่ทุกคนควรรู้ โดยระบุอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐที่ปล่อยให้มีการส่งออกวัตถุดิบเสรี แต่ควบคุมการนำเข้า และมีการประกันรายได้ถึง 2 ชั้น เอื้อพ่อค้าคนกลาง

กลไกตลาดในดำเนินธุรกิจอาหารสัตว์โดยรวม เป็นผลจาก “นโยบายรัฐ” และ “นโยบายของต่างประเทศ” เป็นสำคัญ ดังที่ทราบกันว่า ปัจจุบันไทยปล่อยให้มีการส่งออกวัตถุดิบเสรี แต่ควบคุมการนำเข้า ซึ่งส่งผลต่อความยืดหยุ่นในการดำเนินธุรกิจอาหารสัตว์และภาคปศุสัตว์เป็นอย่างมาก จากมาตรการปกป้องเกษตรกรที่ขาดการพัฒนาควบคู่กันไป ทำให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และปศุสัตว์ถูกบั่นทอนความสามารถในการแข่งขันลง ภาคการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์มีต้นทุนที่สูงกว่าหลายประเทศทั้ง ๆ ที่ผู้ผลิตอาหารสัตว์ได้ทำตามนโยบายรัฐ โดยรับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองในประเทศทุกเมล็ดในราคาประกันที่ 19.75 บาทต่อกิโลกรัม (กก.)และให้ความร่วมมือรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในราคาไม่ต่ำกว่า 8 บาทต่อ กก. เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในประเทศ

ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีปัญหาในด้านประสิทธิภาพการผลิตเป็นอย่างมาก ไทยสามารถผลิตข้าวโพดได้เพียง 724 กก./ไร่ เท่านั้น ในขณะที่โลกอยู่ที่ 955 กก./ไร่ และประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 1,825 กก./ไร่ ด้วยเหตุนี้เอง ข้าวโพดไทยจึงมีต้นทุนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงกว่าในหลายประเทศ สาเหตุหลักที่ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำนั้นมาจากระบบบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูก และเกษตรกรส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาแหล่งน้ำธรรมชาติ(น้ำฝน) ทำให้ไม่สามารถควบคุมการผลิตได้ ในขณะที่เมล็ดพันธุ์ลูกผสมของไทย ถือว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีและมีการผลิตจำหน่ายไปยังประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน

 

ปัญหาแก้ไขได้ แค่หยุดเห็นแก่ตัว!!

ปัญหาการบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูก เป็นปัญหาหลักที่ควรแก้ไขเป็นลำดับแรก ประเทศไทยมีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) แต่มิได้มีการบังคับใช้ ข้าวโพดที่ได้รับการรับรอง GAP จึงมีเพียงหลักหมื่นไร่เท่านั้น หากมีการผลักดันให้มีการเพาะปลูกตามหลัก GAP แล้วจะช่วยให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนเกษตรกรได้เป็นอย่างดี และยังแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมลดการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรได้อีก

 

เมื่อต้นทุนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยมีราคาที่สูง รัฐบาลไทยจึงมีนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในการกำกับดูแล อาทิ การขอความร่วมมือโรงงานอาหารสัตว์ให้ซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในราคาไม่ต่ำกว่า 8 บาท/กก. , การจำกัดเวลานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ส่วน เป็นต้น ทำให้ที่ผ่านมาราคาข้าวโพดไทยสูงกว่าราคาตลาดโลกมาโดยตลอด จึงกล่าวได้ว่า ราคาข้าวโพดไทยไม่เคยอิงราคาตลาดโลก

ผู้ผลิตอาหารสัตว์ตีแผ่ข้อเท็จจริง“ข้าวโพดอาหารสัตว์” ที่คนไทยควรรู้

แต่วันนี้เมื่อราคาข้าวโพดตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก “พ่อค้าคนกลาง” กลับเรียกร้องให้ราคาข้าวโพดไทยปรับขึ้นตาม เพื่อจุดประสงค์ในการทำกำไร ... แต่จะเป็นเช่นนั้นได้ รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบายและมาตรการควบคุมทั้งหมด เพื่อปล่อยการค้าให้เป็นเสรีจริง ๆ อิงราคาตลาดโลกทั้งขึ้นและลง ก็จะเกิดความเป็นธรรมและเป็นเหตุเป็นผล 

 

ประกันราคาข้าวโพด 2 ชั้น ... ใครได้ประโยชน์?

ข้อมูลจากสำนักเศรษฐกิจการเกษตร แสดงให้เห็นว่า ต้นทุนการปลูกข้าวโพดของไทยสูงกว่า 6 บาท/กก.มาโดยตลอด รัฐบาลจึงมีโครงการประกันรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เริ่มในปี 2562/2563 เป็นปีแรก โดยกำหนดราคารับประกันไว้ที่ 8.50 บาท/กก. และยังคงมาตรการเดิมที่เคยใช้อยู่ไว้ทั้งหมด รวมถึง การขอให้โรงงานอาหารสัตว์ช่วยซื้อข้าวโพดในราคาไม่ต่ำกว่า 8 บาท/กก. ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงเป็นพืชเดียวที่มีการประกันถึงสองชั้น

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงใช้จ่ายชดเชยเงินประกันรายได้สำหรับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์น้อยที่สุดในบรรดาพืชเศรษฐกิจหลักทั้ง 5 ตัวที่มีการประกันรายได้ โดยในปี 2562 ใช้งบประมาณไปเพียง 1,000 ล้านบาทเศษเท่านั้น เพราะได้ผลักภาระดังกล่าวมาไว้ที่ผู้ผลิตอาหารสัตว์แทน

ผู้ผลิตอาหารสัตว์ตีแผ่ข้อเท็จจริง“ข้าวโพดอาหารสัตว์” ที่คนไทยควรรู้

ตลอดระยะเวลาโครงการประกันรายได้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไม่มีเคยมีเสียงเรียกร้องใด ๆ จากเกษตรกร แต่กลับมีเสียงเรียกร้องจาก “พ่อค้าคนกลาง” ว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังคงมีราคาตกต่ำ และกล่าวหาว่าโครงการประกันรายได้เอื้อประโยชน์ให้แก่โรงงานอาหารสัตว์ แต่ในข้อเท็จจริงแล้วการชดเชยส่วนต่างตามราคารับประกันนั้น ถูกพิจารณาจากราคาที่พ่อค้าคนกลางในพื้นที่ซื้อกับเกษตรกร ซึ่งไม่ได้มีกลไกควบคุมราคารับซื้อในส่วนนี้

 

จึงมีความเป็นไปได้ว่าโครงการประกันรายได้ช่วยให้ “พ่อค้าคนกลาง” ซื้อข้าวโพดได้ในราคาที่ต่ำลงเพราะเกษตรกรสามารถไปรับเงินชดเชยจากภาครัฐได้ และอีกข้อที่ควรระวังคือ ข้าวโพดชายแดนที่นำเข้ามาโดยพ่อค้าคนกลางก็พลอยได้รับอานิสงส์จากนโยบายรัฐในเรื่องประกันราคา 2 ชั้นไปด้วย เพราะส่วนใหญ่ไม่มีระบบตรวจสอบพ่อค้าว่านำข้าวโพดมาจากแหล่งใด

ผู้ผลิตอาหารสัตว์ตีแผ่ข้อเท็จจริง“ข้าวโพดอาหารสัตว์” ที่คนไทยควรรู้

 

รัฐควรทบทวน และวางระบบให้เป็นสากล

การอุดหนุนโดยรัฐเป็นนโยบายสากลที่ทุกประเทศทั่วโลกยึดปฎิบัติ เพื่อให้ผู้ประกอบการคงขีดความสามารถในการแข่งขันไว้ได้ และส่งผลกลับมาเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สนับสนุนโครงการประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อเกษตรกร เพราะเป็นการแก้ตรงจุด หากแต่เมื่อพบปัญหาเกิดที่ส่วนใด ก็ควรแก้ที่ส่วนนั้น และปล่อยให้จุดอื่นทำหน้าที่ของตัวเองตามกลไกตลาด ไม่ควรให้ปัญหาเพียงจุดเดียวกระทบห่วงโซ่ทั้งระบบ

 

ในช่วง 3 ปีหลังมานี้ ธุรกิจอาหารสัตว์มีการเติบโตแบบถดถอย จนกระทั่งประเทศไทยถูกเวียดนามแซงหน้าในการผลิตอาหารสัตว์ไปแล้ว เวียดนามเป็นประเทศที่ขาดแคลนวัตถุดิบการผลิตอาหารสัตว์ แต่มีนโยบายส่งเสริมให้มีการนำเข้าวัตถุดิบได้อย่างเสรี แต่ละปีมีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กว่า 10 ล้านตัน ในราคาที่ต่ำกว่าของไทย ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ต่ำกว่าบ้านเรา ดึงดูดให้มีการลงทุนในประเทศเขามากขึ้น อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์จึงขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มขยายอย่างต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้เวียดนามยังอนุญาตให้มีการปลูกพืชตัดแต่งพันธุกรรม(GMO)ได้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่หลายประเทศทั่วโลกให้การยอมรับและช่วยให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรที่สูงขึ้น ขณะที่ไทยเองยังไม่อนุญาตให้ปลูกในประเทศ แต่อนุญาตนำเข้าได้เนื่องจากมีมาตรฐานรองรับในระดับสากลแล้ว

 

หากประเทศไทยยังติดกับดักทางความคิดเดิม ติดกับเงื่อนไขที่สร้างขึ้นเพื่อกีดกันการนำเข้า เพราะต้องการปกป้องเกษตรกร (ที่อาจกลายเป็นปกป้องพ่อค้าคนกลาง) โดยไม่คิดจะปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตภายในประเทศ ประเทศไทยจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และปศุสัตว์รวมถึงตลาดส่งออกเนื้อสัตว์ไปไม่ช้าก็เร็ว

 

นอกจากนี้ การเร่งพัฒนาสินค้าให้ตอบกระแสตลาดโลกเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และควรเร่งพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันประเทศคู่ค้าที่สำคัญอย่าง EU ได้กำหนดนโยบายที่มุ่งเน้นไปในประเด็นการผลิตสินค้าที่มีความยั่งยืนเรียกว่า European Green Deal ยกตัวอย่าง กรณีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยที่กว่าครึ่งเพาะปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสมและผิดกฏหมาย หากไม่เร่งดำเนินการพัฒนาและแก้ไข ก็ไม่อาจจะส่งออกเนื้อไก่ ไปยัง EU ได้ต่อไป

ผู้ผลิตอาหารสัตว์ตีแผ่ข้อเท็จจริง“ข้าวโพดอาหารสัตว์” ที่คนไทยควรรู้

ยืนยันว่า ประเด็นความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง และสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าวมากว่า 7 ปีแล้ว โดยมีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้บริบทการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจตลอดห่วงโซ่ หากวันนี้จะร่วมกันลงมือจริงจัง ประเทศไทยสามารถเริ่มต้น ณ ก้าวที่ 2 ที่ 3 ได้เลย แต่หากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่เห็นความสำคัญและไม่ร่วมมือในการส่งเสริมกิจกรรมเหล่านี้ หรือ มีข้อต่อใดข้อต่อหนึ่งของห่วงโซ่ละเลย ... ก็คงยากที่จะประสบผลสำเร็จ