ปัจจุบันพบว่าสภาพการค้าระหว่างประเทศไทยและกลุ่มประเทศด้านมหาสมุทรแปซิฟิกและกลุ่มประเทศอาเซียนมีปริมาณสินค้าทั้งขาเข้าและขาออก 75% สามารถทำการขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบังได้โดยตรง ขณะที่การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไทยและกลุ่มประเทศด้านมหาสมุทรอินเดียต้องขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออกโดยใช้ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบังผ่านทางช่องแคบมะละกา (สิงค์โปร์) ซึ่งเป็นเส้นทางที่อ้อมและมีระยะไกล
ล่าสุดกระทรวงคมนาคมเตรียมศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางน้ำ เชื่อมโยงกับโครงการแลนด์บริดจ์ โดยใช้เส้นทางขนส่งสินค้าผ่านท่าเรือน้ำลึกระนอง ซึ่งจะช่วยพัฒนาโครงข่ายโลจิส ติกส์และพัฒนาเมืองในภาคใต้ให้ต่อเชื่อมกับการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกที่กำลังเดินหน้าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC)
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ต้องการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการเดินทางของอาเซียน ซึ่งปัจจุบันทางน้ำไทยมีความพร้อมทางทะเล ฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน รวมทั้งเชื่อมต่อการเดินทางจากมหาสมุทรอินเดียมาอ่าวไทย เบื้องต้นกระทรวงฯ ได้ทำการศึกษาพบว่าเทคโนโลยีพัฒนาไปมาก การเดินทางไม่จำเป็นต้องทำคลอง เพราะการทำคลองใช้เงินลงทุนมหาศาล ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงฯ จึงได้มีการศึกษาสามารถเชื่อมต่อผ่านแลนด์บริดจ์ โดยแต่ละฝั่งทะเลจะมีท่าเรือน้ำลึก สำหรับการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ ปัจจุบันคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบศึกษาโครงการฯ จำนวน 68 ล้านบาท คาดว่าภายในปี 2565 จะได้เห็นภาพรวมของแลนด์บริดจ์ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งจะมีการดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2570
“กระทรวงฯ ต้องพิจารณาด้วยว่าแผนพัฒนาแลนด์บริดจ์ที่สร้างจะเป็นตัวสนับสนุนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะเสร็จในปี 2568 ขณะเดียวกันเราอยู่ระหว่างการพัฒนาสนามบิน ท่าเรือ รถไฟความเร็วสูง และโครงการมอเตอร์เวย์เชื่อมต่อจากศรีนครินทร์ ดังนั้นแลนด์บริดจ์จะเป็นเสมือนประตูของอีอีซี สนับสนุนในการเดินทางทะลุไปมหาสมุทรอินเดีย เชื่อมการขนส่งสินค้า และการค้าระหว่างอีอีซีไปทั่วโลกได้ง่ายขึ้น”
ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติขึ้นมาใหม่ เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมได้ส่งเสริมให้มีการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางน้ำ เพื่อลดต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์ และการนำเข้า และส่งออก หากมีการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ซึ่งเป็นของคนไทยจะช่วยสนับสนุนการดำเนินการในโครงการต่างๆดังกล่าวมีความสมบูรณ์มากขึ้น ขณะเดียวกันจะทำให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้า นำเข้า และส่งออก ลดการพึ่งพาสายการเดินเรือต่างชาติ
“ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีสายการเดินเรือแห่งชาติ ที่มีธงไทย เป็นของคนไทย แต่ต้องยอมรับว่าในอดีตที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมเคยมี บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด (บทด.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัด ที่กำกับและดูแลกองเรือไทย แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว ดังนั้นหากจะมีการส่งเสริมระบบโลจิสติกส์ทางน้ำ เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง และเรือเป็นของคนไทย เช่น ประเทศไทยมีสายการบินแห่งชาติ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ซึ่งจะช่วยให้การส่งเสริมพัฒนาการขนส่งทางน้ำมีความสมบูรณ์มากขึ้น ส่วนรูปแบบในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาตินั้น จะเป็นลักษณะการตั้งบริษัทลูก ภายใต้กทท. คาดว่าจะสามารถดำเนินการจัดตั้งสายการเดินแห่งชาติได้ภายในรัฐบาลชุดนี้”
หากกระทรวงคมนาคมสามารถเดินหน้าจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติและโครงการแลนด์บริดจ์ ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ จะช่วยให้การขนส่งทางน้ำสะดวก รวดเร็วมากขึ้น รวมทั้งจะกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของไทยในอนาคต
หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,695 วันที่ 11 - 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2564