ถือเป็นความคืบหน้าอีกระดับ สำหรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วางกรอบทิศทางการพัฒนาประเทศ ที่ได้จุดพลุการพัฒนาเชิงพื้นที่ ปั้นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ขึ้นมาเมื่อ 4-5 ปี ก่อน เพื่อใช้เป็นพื้นที่ดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคต และได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รองรับไว้ทั้ง รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ และสนามบิน โดยหวังว่าการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว จะช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีให้กับประเทศได้ปีละ 5%
รัฐบาลหวังว่า เมื่อการพัฒนาอีอีซีเดินหน้าไปได้ พื้นที่ภาคใต้จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญอีกพื้นที่หนึ่ง ที่จะเชื่อมต่อกับอีอีซี จึงหยิบยกโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทย และอันดามันขึ้นมา หรือ โครงการแลนด์บริดจ์ โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบราว 68 ล้านบาท เพื่อจะมาว่าศึกษาโครงการดังกล่าวเมื่อช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา ที่ประกอบด้วย การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) และรถไฟทางคู่ 2 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร (กม.) และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-ระนอง ระยะทาง 109 กิโลเมตร (กม.) ตลอดจนวางระบบการขนส่งทางท่อ ที่จะทำการก่อสร้างไปพร้อมกันในพื้นที่เดียวกัน ที่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่ตํ่ากว่า 1 แสนล้านบาท เป็นการลงทุนในลักษณะรัฐร่วมลงทุนกับเอกชนหรือ PPP
ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ลงนามว่าจ้างที่ปรึกษา 6 ราย เพื่อศึกษา ความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ศึกษาเป็นระยะเวลา 30 เดือน
มีขอบเขตการศึกษาโครงการฯ ประกอบด้วย 1.ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ การเงิน วิศวกรรม สังคม 2.ออกแบบรายละเอียดเบื้องต้นและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) 3.จัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ 4.วิเคราะห์จัดทำรูปแบบการพัฒนาและการลงทุน และ 5.สร้างความเข้าใจ พร้อมรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านตลอดระยะเวลาดำเนินงาน
ทางสนข.ยืนยันว่า โครงการนี้จะก่อสร้างภายในปี 2567 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี และเปิดให้บริการภายในปี 2569 หลังจากโครงการแลนด์บริดจ์ เปิดดำเนินการครบ 10 ปี หรือในปี 2579 จะช่วยผลักดันมูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีภาคใต้เพิ่มขึ้นจาก 2.4 หมื่นล้านบาท เป็น 1.2 แสนล้านบาท หรือส่งผลให้สัดส่วนจีดีพีภาคใต้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 2% เป็น 10% ของจีดีพีภาพรวม
หากโครงการนี้เกิดขึ้นได้จริง จะเป็นความหวังของการพัฒนาประเทศได้อีกทางหนึ่ง เพราะจะกลายเป็นเส้นทางใหม่ในการขนส่งสินค้าของโลก ลดระยะเวลาในการขนส่งสินค้าและขนส่งนํ้ามันได้ถึง 2-3 วัน จากที่ต้องใช้ช่องแคบมะละกา ของสิงคโปร์
ส่วนโครงการใหญ่ขนาดนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ได้ ก็ต้องขึ้นกับการได้แรงสนับสนุนจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ ว่าจะสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน แต่งานนี้บอกได้เลย ประเทศผู้เสียประโยชน์ ออกมาเต้นอย่างแน่นอน