แม้ประเทศไทยจะมีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และอยู่ระหว่างเจรจากับอีกหลายประเทศในระดับทวิภาคีเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านการค้า ลงทุน บริการ และอื่นๆ ของภาคเอกชนไทยเพื่อให้เข้าถึงตลาดแบบเจาะลึกมากขึ้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีแนวคิดในการทำมินิเอฟทีเอ กับประเทศคู่ค้าในระดับมณฑล หรือระดับรัฐ เพื่อเจาะตลาดเมืองรองที่มีศักยภาพของประเทศต่าง ๆ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในวันที่ 12 ก.ค.นี้ จะเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการเป็นพันธมิตรในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กับเมืองโคฟุ จังหวัดยามานาชิ ประเทศญี่ปุ่น ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อส่งเสริมและแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการพัฒนาธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับระหว่างไทยกับญี่ปุ่น การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ และการเปลี่ยนความร่วมมือในการจัดงานแสดงสินค้า หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์มีแผนในการทำมินิเอฟทีเอกับประเทศต่าง ๆ เพื่อเจาะลึกการค้า การลงทุนเป็นรายเมืองหรือมณฑล
การลงนามใน MOU ในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการลงนามในมินิเอฟทีเอฉบับแรก ที่ไทยได้ดำเนินการกับรัฐ หรือมณฑล หรือเมืองที่เห็นว่าไทยมีโอกาสในการขยายการค้า การลงทุน และการร่วมมือทางเศรษฐกิจในเชิงลึก ซึ่งในปีนี้ มีเป้าหมาย ได้แก่ มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ของจีน รัฐเตลังคานา ของอินเดีย เมืองคยองกีของเกาหลีใต้ และเมืองโคฟุ ของญี่ปุ่น โดยทั้งหมดอยู่ระหว่างการประสานงานและเจรจาในรายละเอียดของการทำ MOU ร่วมกัน คาดจะลงนามกันได้ประมาณเดือนสิงหาคมนี้
สำหรับแนวทางความร่วมมือระหว่างไทยกับเมืองโคฟุ ญี่ปุ่น จะเน้นการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้การเจียระไน การผลิต การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจระหว่างกัน การร่วมมือผลิตสินค้าโดยใช้วัตถุดิบของไทย การร่วมมือจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ การร่วมมือการออกแบบ การทำเครื่องประดับผ่านการแลกเปลี่ยนนักเรียน ซึ่งเป็นช่างฝีมือของแต่ละฝ่าย
ทั้งนี้ เมืองโคฟุ เป็นเมืองหลวงของจังหวัดยามานาชิ เป็นเมืองแห่งอัญมณี เป็นแหล่งผลิตจิวเวลรี่ชั้นนำของญี่ปุ่น มีช่างฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญด้านการขึ้นรูปโลหะด้วยเทคโนโลยี มีการพัฒนาแบรนด์เป็นของตนเอง และเป็นเมืองที่นำเข้าวัตถุดิบจากไทยเป็นจำนวนมาก เช่น พลอยสี รวมถึงทับทิบ ไพลิน หยก และอื่น ๆ รวมทั้งนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปจากไทยเป็นจำนวนมาก อีกทั้งจังหวัดยามานาชิ เป็นจังหวัดที่มีผู้ประกอบการอัญมณีมากกว่า 1,000 บริษัท ครองส่วนแบ่งตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในญี่ปุ่นสัดส่วนสูงถึง 33% หรือมูลค่าเกือบ 1 แสนล้านบาท
สำหรับการส่งออกอัญมณี และเครื่องประดับของไทยในช่วง 5 เดือนของปี 2564 (ไม่รวมทองคำ) มีมูลค่า 67,597.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.80% โดยญี่ปุ่น เป็นตลาดส่งออกอันดับ 6 มูลค่าส่งออก 80.64 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2,432.43 ล้านบาท เพิ่ม 10.84%
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,695 วันที่ 11 - 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2564