การค้า 4 เดือนแรกปี 2564 ไทยกับสปป.ลาวยังขยายตัวด้วยมูลค่าการค้า 54,179 ล้านบาท หรือโตได้ที่อัตรา 6.6% แต่มาตรการห้ามคนข้ามแดน หรือไม่เช่นนั้นต้องกักสังเกต 14 วันเพื่อความปลอดภัย กระทบการค้าชายแดนของพ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่อย่างหนัก
นางมนนิภา โกวิทศิริกุล ประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากภาวะแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ยืดเยื้อหลายระลอก ส่งผลกระทบการค้าชายแดนไทย-ลาว ด้านจังหวัดหนองคาย-เวียงจันทน์ เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว
จากมาตรการปิดประเทศของทั้ง 2 ฝ่าย อนุญาตเฉพาะสินค้าเท่านั้นที่ให้เข้า-ออก ผ่านด่านสะพานมิตรภาพ แห่งที่ 1 หนองคาย-เวียงจันทน์ ส่วนผู้เดินทางเข้าออกผ่านด่านต้องถูกกักสังเกต 14 วัน ตามมาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อความปลอดภัย
นอกจากนี้จุดผ่อนปรนในพื้นที่จังหวัดหนองคายที่เคยมี 4 แห่ง มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าของชาวบ้านตามชุมชนแนวชายแดนริมนํ้าโขงแต่ละปีมีมูลค่ามหาศาลก็ถูกสั่งปิด ทำให้การค้าท้องถิ่นหยุดชะงักเด็ดขาด เกิดการลักลอบขนส่งสินค้าผ่านช่องทางธรรมชาติ
ทางหอการค้าเคยทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมรักษาความสงบชายแดนจังหวัดหนองคายขอให้ทั้งสองฝ่ายพิจารณาผ่อนปรนบรรเทาความเดือดร้อนโดยเปิดจุดผ่อนปรนบ้านหม้ออ.ศรีเชียงใหม่และด่านถาวร วัดหายโศก อ.เมืองหนองคายแต่ทางฝ่ายสปป.ลาวอ้างว่ายังไม่พร้อมด้วยเหตุผลเพื่อความปลอดภัย จึงยังไม่เปิด
ประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย เผยต่อว่าส่วนการค้าที่ผ่านด่านสากลสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 หนองคาย-เวียงจันทน์นั้น ยังสามารถทำได้ภายใต้มาตรการรักษาความปลอดภัยร่วมกัน แต่ก็มีปัญหาเนื่องจากสินค้าผ่านได้ แต่ไม่อนุญาตให้คนเดินทางผ่านเข้า-ออก ด้วยติดมาตรการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน
พ่อค้าแม่ค้าไทยที่ส่งสินค้าไปให้ลูกค้าในเวียงจันทน์ ไม่สามารถเข้าไปเก็บเงินกับคู่ค้าได้ ทำให้พ่อค้าแม่ค้าในหนองคายได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากการค้าระหว่างหนองคาย-เวียงจันทน์ ส่วนมากใช้วิธีการส่งสินค้าให้กันก่อนแล้วตามไปเก็บค่าสินค้ากันภายหลัง
“ที่บ้านประกอบอาชีพขายอุปกรณ์การก่อสร้าง ก็ประสบปัญหายุ่งยากในเรื่องของการชำระค่าสินค้าเช่นกัน คือส่งปูนซีเมนต์ผสมสำเร็จให้ลูกค้าที่เวียงจันทน์ก็ยังไม่สามารถเก็บค่าสินค้าได้ โดยอ้างเหตุผลว่า ลูกค้าก็ยังไม่ได้รับค่าจ้างด้วยเช่นกัน ทำให้ต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ และต้องหันมาใช้วิธีซื้อ-ขาย ด้วยเงินสดเท่านั้น และหลายรายถึงกับต้องหยุดค้าขายไปเลย”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การค้าของผู้ค้าหนองคายที่เปิดการค้ากับคู่ค้าข้ามแดนที่เวียงจันทน์ ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย ที่ยังทำการค้าแบบติดต่อค้าขายกันเองแบบเจอตัว มีเพียงส่วนน้อยที่ทำการค้าข้ามแดนขนาดใหญ่ มีระบบชำระเงินผ่านสถาบันการเงิน หรือการเปิด L/C เช่นเดียวกับ ผู้ค้าจากส่วนกลางดังนั้น เมื่อยังมีมาตรการกักตัว 14 วันสำหรับคนเดินทางข้ามแดนอยู่ จึงไม่สามารถข้ามไปติดตามเก็บเงินค่าสินค้าอีกฝ่ายได้ จนเกิดการเบี้ยวหนี้ขึ้นหลายรายแล้ว ต้องหันมาค้าเงินสดชำระทันที หรือหยุดการค้าชายแดนไปก่อนก็มี
จากอุปสรรคการค้าผ่านด่านถาวรดังกล่าวทำให้ขณะนี้มีการลักลอบขนสินค้าผ่านทางช่องทางธรรมชาติเพิ่มขึ้น ซึ่งทางฝ่ายความมั่นคงของจังหวัดหนองคาย ก็ได้มีการสกัดกั้นและจับกุมอยู่เนืองๆ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงการระบาดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนริมนํ้าโขงแห่งนี้
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,697 วันที่ 18-21 กรกฎาคม พ.ศ.2564