รัฐบาลสอบตก ฉีดวัคซีนคะแนนต่ำ 50 แผนเปิดประเทศ 120 วันส่อยื้อ

17 ก.ค. 2564 | 02:06 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ค. 2564 | 09:32 น.

ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่ยังพุ่งระดับ 8-9 พันคนต่อวัน(ล่าสุดวันที่ 17 ก.ค. ทำลายสถิติ แตะระดับ 1 หมื่นคน และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คนเป็นครั้งแรก) ทำให้หลายฝ่ายนั่งไม่ติด ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าวันนี้จะต้องมาถึงแน่นอน ขณะที่การฉีดวัคซีนยังมีความล่าช้า

รัฐบาลสอบตก ฉีดวัคซีนคะแนนต่ำ 50 แผนเปิดประเทศ 120 วันส่อยื้อ

 

 ที่น่าจับตาจากนี้ไป นอกจากความวิตกของภาคประชาชนแล้ว กลุ่มผู้ประกอบการภาคธุรกิจต่างๆ ก็น่าห่วงมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นศูนย์รวมของแรงงานเป็นกลุ่มก้อน จะรับมืออย่างไรถ้าในโรงงานมีแรงงานติดเชื้อเพิ่มขึ้น หากการเข้าถึงวัคซีนยังล่าช้าแบบนี้ สิ่งที่จะตามมาคือภาคการผลิตเครื่องอาจสะดุด จากผลที่โรงงานต้องล็อกดาวน์ และสุดท้ายจะเสียโอกาสการส่งออก จากเวลานี้ภาคส่งออกกำลังโงหัว และเป็นเครื่องยนต์หลักเพียงเครื่องยนต์เดียวที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจของชาติในยามนี้   

 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงข้อกังวลทั้งหมดในสถานการณ์ที่ยังอยู่กับวิบากกรรมพิษโควิด-19 ที่ยังไม่รู้วันสิ้นสุด ขณะที่การแพร่ระบาดยังพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยประธาน ส.อ.ท.มีความกังวลว่า การดำเนินงานของภาครัฐในการเร่งฉีดวัคซีนที่ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ จะส่งผลให้การฉีดวัคซีนให้กับประชาชนตามเป้าหมายที่ร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรภายในสิ้นปี 2564 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ และเป้าหมายการเปิดประเทศใน 120 วัน อาจต้องชะลอออกไปก่อน เพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพและสาธารณสุข และเพื่อลดการนำเข้าเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์อื่นๆ ที่อาจติดมากับกลุ่มคนผู้เดินทางเข้าประเทศไทย 

 

ขณะที่เวลานี้โรงงานอุตสาหกรรม และสถานประกอบการหลายแห่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้มีแรงงานติดเชื้อจำนวนมากต่อเนื่อง ซึ่งขยายเป็นคลัสเตอร์และทวีความรุนแรงเป็นวงกว้าง หากยังไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดหรือควบคุมให้ลดลงได้ จนต้องปิดโรงงาน จะยิ่งส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิต เพราะวัคซีนเข้าถึงล่าช้า โดยเฉพาะที่น่าห่วงคือ กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ที่ตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ทุกด้าน ทั้งยอดขายร่วง ไม่มีทุนหมุนเวียน คำสั่งซื้อหาย ภาระหนี้สินท่วม

 

สุพันธุ์  มงคลสุธี  

 

นายสุพันธุ์ มองว่า การจัดสรรและการกระจายการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมและทั่วถึง จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการ รวมถึงการปรับแผนการกระจายวัคซีนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยภาครัฐต้องเร่งจัดหาวัคซีนทางเลือกที่มีคุณภาพและมีจำนวนเพียงพอ (ไฟเซอร์ โมเดอร์นา) รวมถึงการนำเข้าวัคซีนจากประเทศที่พร้อมจะให้ยืมวัคซีนเพื่อให้ไทยนำเข้ามาฉีดในประเทศก่อน เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และการจัดการสาธารณสุขให้มีความพร้อมและเพียงพอรองรับผู้ติดเชื้อที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต 

 

ต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบ คลุมร้อยละ 70 ของประชากรทั้งประเทศ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้น หรือปรับจากการแจกเงินให้กับประชาชน เป็นแจกวัคซีนให้กับประชาชน เพราะขณะนี้วัคซีนคือสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับประชาชนในประเทศ” 

 

รัฐบาลสอบตก ฉีดวัคซีนคะแนนต่ำ 50 แผนเปิดประเทศ 120 วันส่อยื้อ

 

25 ศูนย์พร้อมแต่ไม่มีวัคซีน 

นายสุพันธุ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงมาก โดยเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑล การกระจายวัคซีนไปยังศูนย์ฉีดวัคซีนของภาคเอกชนทั้ง 25 ศูนย์ ที่พร้อมจะสนับสนุนการฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้มากถึง 80,000 โดสต่อวัน เวลานี้ยังไม่ได้รับวัคซีนจากรัฐบาล ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลใช้ประโยชน์จากการเปิดศูนย์ฉีดฯ ให้เต็มประสิทธิภาพ เพื่อลดผลกระทบในภาพรวม  

 

รัฐสอบตกฉีดวัคซีนช้าเกินไป 

ต่อคำถามว่า ถ้าคะแนนเต็ม 100 ในการรับมือหยุดการแพร่ระบาดของโควิดและด้านการบริหารจัดการฉีดวัคซีน จะให้กี่คะแนนนั้น นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ถ้าเป็นกรณีการฉีดวัคซีนที่ยังล่าช้า ให้คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน  เนื่อง จากปัจจุบันการฉีดวัคซีนยังทำได้ไม่ตามเป้าหมาย ควรดำเนินการโดยเร่งด่วนเพราะเป็นสิ่งที่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน อีกทั้งการกระจายวัคซีนก็ล่าช้า ประเภทวัคซีนที่มีไม่หลากหลาย ยี่ห้อ และต้องสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับความกังวลเรื่องผลข้างเคียงจากการฉีด 

 

 “รัฐบาลต้องกระจายวัคซีนให้กับประชาชนโดยเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มที่ลงทะเบียนแล้ว การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ด้วยการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง 70% ภายในปีนี้ยังคงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวและขับเคลื่อนไปได้” 

 

รัฐบาลสอบตก ฉีดวัคซีนคะแนนต่ำ 50 แผนเปิดประเทศ 120 วันส่อยื้อ

 

กำลังผลิตไม่พอส่งออกสะดุด 

ประธานส.อ.ท.ยังมองอีกว่า การจัดสรรวัคซีนที่ล่าช้าไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่กระทบต่อภาคการส่งออกด้วย เนื่องจากโรงงานไม่สามารถเปิดดำเนินการได้อย่างเต็มที่ ทำให้กำลังการผลิตไม่เพียงพอ และไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ตามกำหนด 

 

 นอกจากนี้ ภาครัฐต้องบริหารจัดการการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 รวมถึงด้านแรงงาน และระบบสาธารณสุขควบคู่กัน และจัดลำดับการบริหารจัดการในด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งลำดับการบริหารจัดการดังกล่าวส่งผลอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะจะมีผลกระทบเป็นห่วงโซ่ต่อเนื่องกัน หากผู้ประกอบการได้รับผลกระทบต้องปิดหรือหยุดชั่วคราว ก็จะทำให้แรงงานต้องหยุดงานขาด รายได้ การบริโภคภายในประเทศไม่เกิดขึ้น และระบบเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้ช้า 

 

รัฐบาลสอบตก ฉีดวัคซีนคะแนนต่ำ 50 แผนเปิดประเทศ 120 วันส่อยื้อ

 

 “ขอเน้นย้ำว่าภาครัฐควรเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะแรงงานภาคการผลิต เพราะวัคซีนคือคำตอบที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้ภาคการผลิตและภาคการส่งออกยังคงเดินหน้าต่อไปได้ และเป็นเครื่องยนต์หลักที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้ยังอยู่รอดในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้”