นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า องค์การเภสัชกรรม (อภ.) น่าจะใช้ความได้เปรียบเรื่องอำนาจในการต่อรอง เพื่อจัดหาและนำเข้าชุดตรวจโควิดแบบรวดเร็ว หรือ Rapid Antigen Test ในราคาถูก โดยมองว่าน่าจะสามารถหาได้ชุดละราคาต่ำกว่า 100 บาทด้วยซ้ำเพื่อจำหน่ายให้กับประชาชน ซึ่ง อภ. เองก็มีภารกิจในการจำหน่ายยาให้กับประชาชนอยู่แล้ว เพียงแต่จะต้องหาวิธีการให้ความรู้กับประชาชนด้วยว่าวิธีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 (Covid-19)อย่างไรที่ถูกต้อง
"เท่าที่ตรวจสอบราคาจำหน่ายแบบปลีกในยุโรปพบว่าชุด Rapid Antigen Test อยู่ที่ไม่ถึง 100 บาท โดยเป็นราคาปกติที่ยังไม่มีเหตุการรืแพร่ระบาดรุนแรง แต่ตนไม่ได้ต้องการให้ราคาดังกล่าวนี้เป็นราคามาตรฐาน เกรงว่าจะไม่มีผู้ที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ เพราะเวลานี้ความต้องการในประเทศมีมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เชื่อว่า อภ. น่าจะทำได้ในการจัดหาชุดตรวจดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายในราคาประมาณ 100 บาท"
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ส.อ.ท. กำลังเร่งเจรจาเพื่อนำเข้าชุดตรวจ Rapid Antigen Test มาให้กับสมาชิกที่ต้องการใช้งาน เมื่อเกิดปัญหาการแพร่ระบาดในโรงงาน โดยสามารถเจรจานำเข้ามาได้ในราคาที่ต่ำกว่า 200 บาท โดยรัฐบาลเองก็ควรที่จะต้องเร่งนำเข้าชุดตรวจ Rapid Antigen Test เข้ามา เพื่อแก้ปัญหาความแออัดในการตรวจโควิด และเร่งการหาผู้ติดเชื้อแยกออกมาจากผูู้ที่ไม่ได้ติดเชื้อ ลดการแพร่ระบาด
"ส.อ.ท. กำลังเร่งจัดหา Rapid Antigen Test เพื่อจะนำมาให้กับสมาชิก โดยภายในอาทิตย์หน้าจะมีชุดตรวจจำนวนหนึ่งประมาณ 5 หมื่นชุด เพื่อให้สมาชิกนำไปใช้กรณีที่โรงงานมีการติดเชื้อ และสามารถตรวจสอบคนใกล้เคียงได้ ซึ่ง ส.อ.ท. มีการประสานกับโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ในเบื้องต้นที่จะเข้ามาช่วยดูการตรวจสอบ เมื่อได้ผลเป็นบวกก็จะนำไปหาเชื้อแบบ RT-PCR ต่อ หากผลเป็นบวกจริงก็จะมีการจัดหาเตียงให้ โดยน่าจะมีโรงพยาบาลอื่นเพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งปัจจุบัน ส.อ.ท.มีสมาชิกอยู่ประมาณ 1,500 โรงงาน มีแรงงานไม่ต้่ำกว่า 5-6 ล้านคน"
นายสุพันธุ์ กล่าวต่อไปอีกว่า การติดเชื้อโควิดในประเทศจำนวนมากในปัจจุบัน เชื่อว่าจะทำให้ความต้องการใช้ชุด Rapid Antigen Test มีมากขึ้น เนื่องจากประชาชนมีความกังวล โดยภายใน 14 วันที่้มีการล็อกดาวน์จะต้องเร่งตรวจให้ไวที่สุด เพื่อแยกคนป่วยออกมาให้ได้ ไม่เช่นนั้นหลังครบกำหนดล็อกดาวน์ก็จะกลับมาเป็นรูปแบบเดิม เพราะคนติดมาก เช่น มาเลเซียล็อกดาวน์มา 1 เดือนยังไม่สามารถควบคุมได้ หากเราไม่สามารถแยกคนป่วยออกมาได้ โดยมีระบบสาธารณสุขรองรับที่เพียงพอ มีการสร้างโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นระดับสีเขียวจะต้องมีมาตรการรักษาเองได้ง่ายที่สุด ให้ถูกทางด้วยการให้ยา เพื่อให้กลับมาเป็นผู้ไม่ป่วยโดยเร็วที่สุด ไม่เป็นพาหะในการแพร่เชื้อต่อไป