รัฐบาลถก เชฟรอน ผ่อนปรนเงื่อนไขรื้อถอน 142 แท่นก๊าซเอราวัณ เปิดทาง ปตท.สผ.

17 ก.ค. 2564 | 04:42 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ค. 2564 | 11:54 น.

ภาครัฐ ยอมผ่อนปรน เชฟรอน ข้อพิพาทวางเงินหลักประกันค่ารื้อถอน 142 แท่น ยื่นข้อเสนอให้วางเงินตามระยะเวลาที่ใช้งาน พร้อมยืดหยุ่นแนวทางปฏิบัติการรื้อถอน คาดได้ข้อสรุปส.ค.นี้ เปิดทางให้ปตท.สผ.เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ แต่ยังล่าช้า 1 ปี ต้องนำเข้าแอลเอ็นจี เสริมแทน

เหลือระยะเวลาอีกประมาณ 9 เดือน แหล่งก๊าซเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติใหญ่สุดของไทย ดำเนินงานโดยบริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด จะสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 23 เมษายน 2565 และจะมีบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ที่ชนะการประมูลเข้าดำเนินงานแทน

 

ถึงวันนี้ปัญหาอยู่ที่ว่า ปตท.สผ.ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นหลุมผลิต วางท่อ การเจาะหลุมผลิตบนแท่นที่ติดตั้งใหม่ และการเชื่อมต่อระบบได้ ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดมาหลายเดือน ส่งผลให้เมื่อสิ้นสุดระยะสัมปานแล้ว ทาง ปตท.สผ.ไม่สามารถผลิต ก๊าซฯได้ต่อเนื่องหรือไม่เป็นไปตามสัญญาพีเอสซีที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ กระทบต่อความมั่นคงในการจัดหาพลังงานของประเทศ

 

 

ปตท.สผ.ไม่สามารถเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้ ด้วยเหตุที่เชฟรอนฯ ได้นำเงื่อนไข ไม่ต้องการวางหลักประกันค่ารื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมในส่วนที่รัฐจะนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งหมดเต็มจำนวน 142 แท่น ที่เป็นประเด็นการฟ้องร้องอนุญาโตตุลาการอยู่ในขณะนี้ มาเป็นเครื่องมือในการต่อรอง และยังอ้างถึงหากให้ปตทส.สผ.เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ เกรงว่าจะสร้างความเสียหายต่อระบบการผลิตก๊าซฯในช่วงที่ยังไม่สิ้นสุดระยะเวลาสัมปทานได้

 

แม้ว่ากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะคนกลาง พยายามผลักดันให้การเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณได้ข้อยุติโดยเร็ว ผ่านการเจรจามากกว่า 30 ครั้ง ถึงเวลานี้เริ่มมีสัญญาณที่ดี ที่บริษัทแม่ของเชฟรอนฯ ในสหรัฐอเมริกา จะยอมรับแนวทางที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เสนอทางออกในเรื่องดังกล่าวให้

 

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมฯได้ส่งหนังสือไปยังบริษัทแม่ของเชฟรอนฯ เพื่อให้เจรจาหาข้อยุติในเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว เนื่องจากเห็นว่าหากปล่อยให้เรื่องยืดเยื้อต่อไป จะไม่เป็นผลดีกับทั้ง 2 ฝ่าย โดยเฉพาะข้อถกเถียงที่ต้องวางหลักประกันเต็มจำนวนในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมในส่วนที่รัฐนำไปใช้ประโยชน์ต่อจำนวน 142 แท่นนั้น เวลานี้ได้ผ่อนปรนที่จะให้เชฟรอนฯ วางหลักประกันค่ารื้อถอนตามสัดส่วนที่ใช้งานมากกว่า 30 ปี และอีกส่วนให้ผู้ใช้ประโยชน์รายใหม่รับผิดชอบตามระยะเวลาที่ได้รับสัมปทานไป แทนที่เชฟรอนฯจะต้องมาจ่ายทั้งหมดเต็มจำนวนราว 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่าไม่ขัดต่อข้อกฎหมายที่มีอยู่

ส่วนการวางเงินหลักประกันค่ารื้อถอนจะเป็นเท่าใดนั้น จะมีการทบทวนจำนวนแท่นที่ต้องส่งคืนรัฐอีกครั้ง เนื่องจากเวลานี้มีจำนวนหลายแท่นผลิตได้มีการรื้อถอนอุปกรณ์ออกจากแท่นไปแล้ว

 

นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดการยืดหยุ่นในการเจรจา กรมฯยังได้ขอให้เชฟรอนฯ ยื่นข้อเสนอที่เป็นทางออก โดยไม่ขัดต่อข้อกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อมาผ่อนปรนในแนวทางปฏิบัติ  เช่น กรณีที่เชฟรอนต้องรื้อแท่นปิโตรเลียมจำนวน 42 แท่น ที่รัฐไม่นำมาใช้ประโยชน์ ก็สามารถผ่อนปรนให้นำไปทำปะการังเทียมได้ในจำนวนที่มากขึ้น แทนที่จะต้องรื้อนำขึ้นฝั่งเกือบทั้งหมด เป็นการช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานได้ทางหนึ่ง เป็นต้น รวมถึงข้อเสนออื่นๆ ที่เชฟรอนฯ เสนอมาด้วย

 

นายสราวุธ กล่าวอีกว่า แนวทางที่กรมฯเสนอไป ทางบริษัทแม่ของเชฟรอนฯ กำลังพิจารณาอยู่ คาดว่าจะได้รับคำตอบไม่เกินเดือนสิงหาคมนี้ หากเชฟรอนฯ ตอบรับตามที่กรมฯ เสนอไป จะทำให้เรื่องต่างๆ สามารถเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการอนุมัติแผนการรื้อถอนแท่นในภาพรวม ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมฯ เพื่อนำไปสู่แนวทางปฏิบัติในการรื้อถอนแท่น ก่อนจะสิ้นสุดระยะเวลาสัมปทาน รวมถึงการคลี่คลายข้อถกเถียงเพื่อให้ปตท.สผ.สามารถเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นผลิตปิโตรเลียมได้ และยังนำไปสู่การยกเลิกฟ้องอนุญาโตตุลาการ ในข้อพิพาทในคดีการวางเงินหลักประกันค่ารื้อถอนแท่นด้วย

 

“แม้ว่าระยะเวลาในการเข้าพื้นที่แหล่งก๊าซเอราวัณ มีความล่าช้ามากแล้วก็ตาม แต่หากปตท.สผ.เข้าพื้นที่ได้เร็ว จะช่วยให้การวางแผนจัดหาก๊าซมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเวลานี้ประเมินว่า ช่วงต้นปี 2564 ก่อนสิ้นสุดสัมปทานทางเชฟรอนฯ จะปรับสัญญาปริมาณก๊าซฯที่ส่งให้กับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ลดลงเหลือราว 560 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และคาดว่าจะทำให้ปริมาณก๊าซหายไปกว่า 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ไม่เป็นไปตามสัญญาที่ต้องส่ง 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และกว่าจะผลิตก๊าซให้ได้ตามสัญญาอาจต้องใช้เวลากว่า 1 ปี”

สำหรับแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว ยังพอมีเวลาที่จะหารือกับทางปตท.ในช่วงปลายปีนี้ ที่คาดว่จะต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีมาเสริมราว 1.5 ล้านตัน ในช่วงระยะเวลา 1 ปี เพื่อรอเวลาให้ปตท.สผ.ติดตั้งแท่นผลิตก๊าซให้แล้วเสร็จก่อน ส่วนราคาแอลเอ็นจี ที่จะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า คงต้องรอดูว่าราคาแอลเอ็นจีในช่วงนั้นจะเป็นอย่างไร