ทางสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.) ได้ทำหนังสือจดหมายเปิดผนึกถึง นายประพันธ์ บุญยเกียรติ ประธานคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด) ถึงเรื่อง การขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ. ศ. 2558 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 นั้น
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าด้วยปรากฏว่า มีเกษตรกรชาวสวนยางในทุกจังหวัดที่อยู่ในเขตปลูกยาง ร้องเรียนมายังสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ขอความช่วยเหลือ ให้เกษตรกรที่ปลูกยางในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามกฎหมาย เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์จากกองทุนพัฒนายางพารา ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ 2558
ด้วยเหตุผล ผลผลิตในสวนยางของเกษตรกรชาวสวนยาง ได้นำออกขายในตลาดของพ่อค้าท้องถิ่น โรงงานของเอกชน หรือตลาดของทางราชการ ซึ่งหมายถึงเกษตรกรชาวสวนยางที่เป็นเจ้าของผลผลิตในสวนยางนั้น ต้องเสียเงินสงเคราะห์กิโลกรัมละ 2 บาทให้กับการยางแห่งประเทศไทยแม้นว่าจะเสียทางอ้อมก็ตาม แต่มิได้รับสิทธิประโยชน์ใดๆ จากกองทุนพัฒนายางพาราแต่อย่างใด
สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ได้นำเรื่องร้องเรียนดังกล่าว เข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการสมาคมฯ ประเด็นสำคัญ คือ ต้องยึดกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งหมายถึงพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ดังนั้น คณะกรรมการสมาคมฯ จึงพิจารณาข้อกฎหมาย แยกเป็น 2 ประเด็น คือ ประเด็นที่หนึ่ง เกษตรกรชาวสวนยาง ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิตามกฎหมาย เข้าหลักเกณฑ์เป็น “เกษตรกรชาวสวนยาง” ตามพระราชบัญญัติฯ หรือไม่
ส่วนประเด็นที่สอง กรณีเข้าหลักเกณฑ์เป็น “เกษตรกรชาวสวนยาง” แล้วเหตุใดจึงไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนพัฒนายางพารา ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 คณะกรรมการสมาคมฯ ได้พิจารณาแล้ว มีความเห็น ดังนี้
1.ประเด็นที่ 1 ตามเหตุผลที่เกษตรกรชาวสวนยางอ้างถึง ผลผลิตในสวนยางของตนเอง ได้นำออกขายในตลาดท้องถิ่น โรงงานของเอกชน หรือตลาดของทางราชการก็ตาม เท่ากับว่า ตนเองได้เสียเงินสงเคราะห์เข้า “กองทุนพัฒนายางพารา” แม้นว่าจะเป็นเสียทางอ้อม
คณะกรรมการสมาคมฯ มีความเห็นว่า โดยข้อเท็จจริงดังกล่าว พิจารณาได้ว่า ตราบเท่าที่ ผลผลิตในสวนยางนั้น ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของเกษตรกรชาวสวนยางอยู่ ซึ่งหมายถึงเกษตรกรชาวสวนยางรายนั้นมีสิทธิ์ได้รับผลผลิตจากต้นยางในสวนยาง จึงเข้าหลักเกณฑ์เป็น “เกษตรกรชาวสวนยาง” ตามความหมายในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทยพ.ศ 2558 ย่อมมีสิทธิ์ขอขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย เพื่อรับสิทธิประโยชน์ใน “กองทุนพัฒนายางพารา” ตามพระราชบัญญัติ การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 ยกเว้นการขอทุนสงเคราะห์ปลูกแทนตามมาตรา 49(2) ทำไม่ได้ เพราะ มาตรา 36 กำหนดเป็นข้อห้ามไว้
2.ประเด็นที่ 2 เมื่อพิจารณาในประเด็นที่ 1 แล้วว่ากรณีเข้าหลักเกณฑ์เป็น “เกษตรกรชาวสวนยาง”ตามความหมายในมาตรา 4 แล้ว เหตุใดจึงไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนพัฒนายางพาราตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558
คณะกรรมการสมาคมฯ ได้พิจารณาเห็นว่าการขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทยคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยได้กำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่คณะกรรมการกำหนดเป็นประกาศการขึ้นทะเบียนเป็น 2 ประเภท คือ
(1)รายที่มีเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามกฎหมาย ซึ่งเรียกว่า “บัตรสีเขียว” จะมีสิทธิ์ได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนพัฒนายางพารา ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มาตรา 49
(2)รายที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามกฎหมาย ซึ่งเรียกว่า “บัตรสีชมพู” การขึ้นทะเบียนก็เพื่อประโยชน์ในการขอรับความช่วยเหลือ แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นความช่วยเหลืออะไร ไม่มีการกำกนดหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขใดๆ เท่ากับว่าไม่มีสิทธิ์ใดๆที่จะได้รับการช่วยเหลือจาก “กองทุนพัฒนายางพารา” ตามพระราชบัญญัติ การยางแห่งประเทศไทย พ. ศ. 2558
คณะกรรมการสมาคมฯ จึงลงความเห็นว่า การยางแห่งประเทศไทย จะต้องระบุให้ชัดเจนว่าเกษตรกรชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามกฎหมาย (บัตรสีชมพู) มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนพัฒนายางพาราตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ 2558 ยกเว้น การขอทุนสงเคราะห์ปลูกแทน มาตรา 40(2) เพราะมาตรา 36กำหนดเป็นข้อห้ามไว้
คณะกรรมการสมาคมฯ จึงลงมติให้การยางแห่งประเทศไทย โดยประธานคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ทบทวนประกาศของคณะกรรมการฯ ที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ซึ่งตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย ท้ายมาตรา 4 กำหนดเป็นอำนาจของคณะกรรมการไว้ เพราะเขาเหล่านั้นเข้าหลักเกณฑ์เป็นเกษตรกรชาวสวนยาง ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติฯ เพราะผลผลิตจากต้นยางในสวนยางนั้นยังเป็นสิทธิของเกษตรกรชาวสวนยางอยู่
อีกประการหนึ่ง เกษตรกรเหล่านั้นยังเคยได้รับสิทธิ์จากรัฐบาลให้เข้าร่วมโครงการประกันรายได้ ระยะที่ 1จากผลผลิตยางพาราของตนเองมาแล้วด้วย ดังนั้น หากไม่มีการทบทวนแก้ไข ทางกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางเหล่านั้น จะร้องเรียน ทางกฎหมายได้ว่า คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขึ้นทะเบียน ขัดกับกฎหมายหลักคือมาตรา 4 คำว่า “เกษตรกรชาวสวนยาง”
อนึ่ง เพื่อมิให้สับสน การขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง ไม่มีความจำเป็นต้องแยกเป็น 2 ประเภท เพราะ ข้อความในแบบขึ้นทะเบียน จะบ่งบอกถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินอยู่แล้ว หากผู้ใดไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือสิทธิครอบครองตามกฎหมาย ก็ย่อมต้องปฏิบัติตามมาตรา 36 อยู่แล้ว คือ ขอทุนสงเคราะห์ปลูกแทนไม่ได้