“ยางพารา” เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจในท้องถิ่นของทุกภาค โดยมูลค่าตลาดยางพาราทั้งในประเทศและส่งออกตกปีหนึ่งกว่า 4 แสนล้านบาท ก่อให้เกิดรายได้ต่อเกษตรกรผู้ค้า ผู้ส่งออก และอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราในวงจรที่เกี่ยวเนื่องเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีการยางแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานในการบริหารยางพาราทั้งระบบ ล่าสุดกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้ง
แหล่งข่าวการยางแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การยางแห่งประเทศไทยหรือ กยท. ได้ประกาศเชิญชวนร่วมแสดงความคิดเห็น ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน-15 กรกฎาคม 2564 เพื่อปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย 2558 วัตถุประสงค์ที่จำเป็นต้องปรับปรุง ตามระเบียบของกระทรวงการคลัง ซึ่งทุก 5 ปี จะมีการให้แก้ไขครั้งหนึ่ง ที่ผ่านมา ก็มีหลายสถาบัน องค์กร เกษตรกร ต่างก็เห็นว่ากฎหมายมีปัญหา อุปสรรค ดังนั้นต้องถือโอกาสนี้ในการปรับปรุงแก้ไข เพื่อเป็นของขวัญให้กับพี่น้องเกษตรกรในโอกาสครบรอบการก่อตั้งกยท.ครบ 6 ปี พร้อมก้าวเข้าสู่ปีที่ 7 ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2564
นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศ การยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.หรือกฎหมายของการยางแห่งประเทศไทย เกษตรกรชาวสวนยางส่วนใหญ่ไม่ทราบ และปกติทางเครือข่ายฯ มีประชุมทุกเดือนอยู่แล้ว ทำไมไม่แจ้งผ่านเว็บไซต์ จะมีเกษตรกรกี่คนที่เข้าถึง ตั้งคำถามว่ากฎหมายนี้ใช้มาแค่ 6-7 ปี ยังใช้ไม่เต็มศักยภาพเลย จะมาแก้อีกแล้วหรือ? ส่วนตัวมองว่ากฎหมายดีอยู่แล้ว แต่ กยท. ซึ่งเป็นผู้ถือกฎหมาย เป็นผู้ร่างระเบียบ ภายใต้กฎหมาย มีปัญหาไม่ตอบโจทย์พี่น้องเกษตรกร ดังนั้นให้ไปแก้ที่ระเบียบจะดีกว่า
ด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และนายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กยท.เหมือน “พายเรือในอ่าง” ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2558 ร่วม 7 ปี ออกกฎหมายลูก หรือออกระเบียบส่วนใหญ่เอื้อประโยชน์เพื่อสร้างอำนาจให้กับให้ กยท.โดยอำนาจนั้นอยู่ ใน พ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ.2542 (กรมวิชาการเกษตร) มาตรา 41 อยากจะเอามาทำ แต่กฎหมายตัวเองที่ทำยังทำได้ไม่ดีเลย จะไปขอเอา พ.ร.บ.ควบคุมยางฯ มาดูแลอีก ทั้งที่ไม่จำเป็น และสามารถทำได้ง่ายนิดเดียวคือส่งเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งเป็นพนักงานเท่านี้ก็จบแล้ว
“การแก้กฎหมายครั้งนี้มองว่าส่วนหนึ่งเพื่อจะเอาเงินมาใช้โดยโยกข้ามมาตราได้ จากปัจจุบันล็อกแต่ละมาตราไว้ ตอนนี้อยู่ไม่รอดแล้ว ผมยอมไม่ได้ ในส่วนค่าบริหารเจ้าหน้าที่ ในส่วนกองทุนพัฒนายางพารามาตรา 49 (1) ได้จัดสรรจากเงินจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมส่งออก (CESS) ที่เก็บในอัตราคงที่ กิโลกรัมละ 2 บาท เพื่อใช้ในการช่วยเหลือเกษตรกร หากในส่วนนี้ไม่เพียงพอก็ต้องขอให้รัฐบาลอุดหนุน ทำไมส่วนนี้ต้องมาเบียดเบียนเงินเกษตรกรเพื่อนำไปใช้ด้านอื่น และที่สำคัญจะแก้บริหารเงินอนุมัติโดยบอร์ดอย่างเดียว ไม่ผ่านกระทรวงการคลัง ข้อนี้ก็ขอคัดค้าน”
เช่นเดียวกับ นายเพิก เลิศวังพง อดีตประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางพาราแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสยท.) กล่าวว่า กยท.ใกล้ถังแตก เป้าหมายต้องการใช้เงิน จะมาแก้กฎหมายเพื่อชาวสวนยาง ทั้งบัตรสีเขียวและบัตรสีชมพู เป็นคนสร้างกับดักขึ้นมาเอง จากก่อนหน้านี้ก่อนตั้ง กยท.มีสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) การขอทุนปลูกยางทดแทนสามารถทำได้ แต่พอเปลี่ยนเป็น กยท.มาบริหารตอนนี้ขอทุนไม่ได้แล้ว ในอนาคตหากแก้ไขให้สามารถทำได้ ก็อาจจะนำมาโชว์เป็นผลงาน อาจทวงบุญคุณได้
ด้านนายมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย (ส.ค.ย.) กล่าวว่า แบบสอบถามไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การแก้ไข พ.ร.บ.ฯ เป็นประโยชน์แก่เกษตรกร ซึ่งยังต้องประสบปัญหารายได้ต่ำกว่าต้นทุนมาโดยตลอด ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มอำนาจและผลตอบแทนของพนักงาน
อนึ่ง การยางแห่งประเทศไทย เกิดจากการควบรวม 3 องค์กร คือ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) และสถาบันวิจัยยาง (สวย.) เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 ภายใต้พระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558
ทั้งนี้วงการยางพารา ต่างจับตาในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของ กยท.ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด จะเป็นไปตามที่วงการยางตั้งข้อสังเกตหรือไม่ หรือจะผิดคาดและส่งผลทางบวกให้ "กยท." ผงาดเป็นเสือตัวที่ 6 ของวงการยางของเมืองไทย ต้องติดตาม
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,691 วันที่ 27 - 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง