นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์สินค้าที่มีแนวโน้มเติบโตสูง เพื่อหาโอกาสในการผลิตและการทำตลาดให้กับผู้ประกอบการของไทย โดยล่าสุดได้ศึกษาสินค้า สมุนไพรพบว่าเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงมาก เพราะเป็นสินค้าที่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศมีความต้องการ หากผู้ผลิต ผู้ประกอบการไทยมีการวางแผนการผลิต และการทำตลาด ก็จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้น
โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความต้องการสินค้าสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น คือ 1.การป้องกันสุขภาพ ผู้บริโภคนิยมบริโภคสินค้าที่ป้องกันและดูแลสุขภาพมากกว่าการรักษา บริโภคแล้วอารมณ์ดี ลดเครียด เช่น เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ อาหารเสริม และสินค้าที่ทำจากพืช
2.การกลับสู่สามัญ ผู้บริโภคนิยมสินค้าที่ทราบแหล่งที่มา โดยใช้ส่วนผสมและภูมิปัญญาแบบดั้งเดิม 3.การเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยให้ตรวจสอบสุขภาพของตัวเองได้ ทำให้ผู้บริโภคนิยมบริโภคสินค้าที่ดูแลสุขภาพ และ 4.ความโปร่งใส ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสินค้าที่มีฉลากโปร่งใส ระบุส่วนผสมชัดเจน และต้องเป็นอาหารปลอดภัย ตรวจสอบแหล่งที่มาได้ ตรวจสอบย้อนกลับได้
นอกจากนี้ ยังมีเมกะเทรนด์ที่ส่งผลกระทบต่อการค้าสินค้าสมุนไพร ได้แก่ สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ทำให้เกิดแนวโน้มความต้องการสินค้าและบริการที่จะมารองรับประชากรสูงอายุ ซึ่งจะกลายเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ รวมถึงผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตยุคดิจิทัล (Digital Lifestyle) ที่ส่งผลให้แบรนด์สินค้าและบริการ ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการใช้สื่อและเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ทั้งการสื่อสารการตลาด การให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค และเป็นช่องทางการขาย
สำหรับข้อเสนอแนะในการพัฒนาศักยภาพสมุนไพรไทย จะต้องยึดหลัก BCG Model ที่เน้นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และต้องผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานและกฎเกณฑ์สากล ให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานแรงงานที่ดี สินค้าต้องตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้ และปรับรูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย มีความปลอดภัย
ส่วนการทำตลาด สินค้าต้องมีจุดขาย มีเรื่องเล่า ที่มาที่ไป เพื่อสร้างความสนใจจากผู้บริโภค และต้องให้ความสำคัญกับการตลาดทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยการตลาดออนไลน์ต้องทำการโฆษณาผ่านสื่อโซเซียลมีเดียต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการรับรู้และสนใจซื้อ ส่วนออฟไลน์ ก็ต้องทำ ทั้งการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ การให้ข้อมูลสรรพคุณของสมุนไพรไทย หรือทำแบบผสมผสานในรูปแบบไฮบริด
สำหรับตลาดส่งออกสินค้าสมุนไพรของไทย เมื่อพิจารณาจากมูลค่าการส่งออกสมุนไพร ปี 2563 พบว่า สินค้าพืชสมุนไพร (HS 1211) ได้แก่ พืชสมุนไพร มีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ จีน คิดเป็น 34.3% รองลงมา คือ ญี่ปุ่น 26.6% เวียดนาม 12.4% บังกลาเทศ 5.5% และเกาหลีใต้ 4.2% และสินค้าสารสกัดจากสมุนไพร (HS 1302) ได้แก่ สารสกัดสมุนไพร มีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ เมียนมา คิดเป็น 25.5% รองลงมา คือ ญี่ปุ่น 18.1% สหรัฐฯ 12.4% มาเลเซีย 9% และเวียดนาม 6%
ทั้งนี้สถานการณ์การส่งออกสมุนไพรในตลาดโลกในปี 2563 ทั่วโลกมีการส่งออกสินค้าพืชสมุนไพร (HS 1211) มูลค่ารวมทั้งสิ้น 3,526.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าพืชสมุนไพร อันดับที่ 40 มีส่วนแบ่งมูลค่าการส่งออก 0.4% ส่วนสินค้าสารสกัดจากสมุนไพร (HS 1302) มูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 6,455.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าสารสกัดจากสมุนไพร อันดับที่ 39 ส่วนแบ่งมูลค่าการส่งออก 0.2%