“สมุนไพรไทย” ไปไกลแค่ไหน?

20 พ.ค. 2564 | 03:27 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ค. 2564 | 10:54 น.

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผอ.ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย เขียนบทความเรื่อง สมุนไพรไทย ไปไกลแค่ไหน? โดยฉายภาพเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่น ๆ ศักยภาพเราเป็นอย่างไรบ้าง

“สมุนไพรไทย” ไปไกลแค่ไหน?

การวิเคราะห์และประเมินมูลค่าการตลาดวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นเรื่องสำคัญและเป็นหัวใจหลักในการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อกำหนดตลาดและมูลค่าทางเศรษฐกิจของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรของไทย

“สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)” จึงได้มอบหมายให้ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทยจัดทำศึกษา "โครงการวิเคราะห์และประเมินมูลค่าทางการตลาดของผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทย ระหว่างปีพ.ศ.2560-2564" โดยพื้นที่การศึกษาในครั้งนี้ คือ เมืองสมุนไพร 14 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีสินค้าสมุนไพรเป้าหมาย 12 ชนิด

ผลการศึกษาพบว่า จังหวัดที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนมูลค่าทางการตลาดสมุนไพรตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงแปรรูปขั้นต้น คือ จังหวัดสงขลา นครปฐม และสุราษฎร์ธานี ขณะที่มูลค่าทางการตลาดสมุนไพรปลายน้ำหรือระดับอุตสาหกรรม ได้แก่ ยาสมุนไพร เครื่องสำอางผสมสมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ (สัดส่วนเครื่องสำอางผสมสมุนไพรร้อยละ 38.5 ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารร้อยละ 32.6 และยาสมุนไพรร้อยละ 28.8)

อย่างไรก็ตาม ในขั้นแปรรูปขั้นต้นในจังหวัดส่วนใหญ่จะเป็นการแปรรูปโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งยังมีข้อจำกัดในเรื่องของเงินลงทุนและเทคโนโลยีในการผลิต รวมไปถึงยังขาดความรู้ทางด้าน กฎ ระเบียบ การขอขึ้นทะเบียนฉลาก สรรพคุณของ อย. การเพาะปลูกที่ไม่ได้มาตรฐาน ขาดความรู้ในกระบวนการแปรรูปขั้นต้นที่มีประสิทธิภาพ ขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในขั้นตอนการขอใบรับรองต่าง ๆ และปัญหาในการเข้าถึงตลาดเป้าหมายและขาดตลาดรองรับ

“สมุนไพรไทย” ไปไกลแค่ไหน?

หากเปรียบเทียบกับกับเกาหลี จีน และเยอรมัน พบว่า “ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสมุนไพรของเกาหลี” มีความได้เปรียบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสมุนไพรของไทย โดยเฉพาะการวิจัยและนวัตกรรม มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย เกาหลียังมีสมุนไพรขึ้นชื่อที่โด่งดังไปทั่วโลก เช่น โสมเกาหลี เกาหลีมีการทำการตลาดผ่านความเป็นเกาหลี เช่น เพลงป๊อปของเกาหลี แฟชั่นการแต่งกาย ทรงผม รวมไปถึงเครื่องสำอางและเทรนด์การแต่งหน้า ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ตลาด K-Beauty ก้าวในระดับสากล

นอกจากนี้เทรนด์การใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกกำลังมาแรงตามกระแสของโลก เช่น ผลิตภัณฑ์ Sulwhasoo, primera และ illiyoon ประกาศใช้นวัตกรรมเม็ดพลาสติกรักษ์โลกใช้แพกเกตจิ้งใส่ใจสิ่งแวดล้อม (INNATE™ TF) สำหรับผลิตฟิล์มบรรจุภัณฑ์ Tenter Frame Biaxial Orientation (TF-BOPE) เพื่อลดโลกร้อน ลดขยะ เป็นต้น

ส่วนไทยมีความได้เปรียบในส่วนของการเป็นฐานการผลิตเครื่องสำอาง และมีโรงงานรับจ้างผลิต (OEM) ส่วน “ผลิตภัณฑ์ยาจากสมุนไพรของจีน” จีนมีอุตสาหกรรมผู้ผลิตยาจำนวนมากที่มีราคาถูก มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรใหม่ ๆ จากความร่วมมือกับบริษัทต่างชาติ และมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วประกอบกับรัฐบาลจีนได้สนับสนุนให้มีการร่วมทุนกับผู้ผลิตยาสมุนไพรจากต่างประเทศ ทำให้เป็นแรงดึงดูดบริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนในจีนจำนวนมาก จีนมีห่วงโซ่การผลิตขนาดใหญ่ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ส่วน “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสมุนไพรของเยอรมนี” มีการวิจัยและนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ มีผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีตราสินค้าสัญชาติเยอรมัน และเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก บริษัทผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีการวิจัยและนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และมีผลิตภัณฑ์มากมายหลากหลายชนิด ผู้บริโภคภายในประเทศนิยมผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เน้นสรรพคุณเสริมสุขภาพจึงส่งผลให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นที่ต้องการของตลาด

“สมุนไพรไทย” ไปไกลแค่ไหน?

สำหรับประเทศไทยมีความได้เปรียบบ้างในด้านวัตถุดิบที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มีความหลากหลายทางชีวภาพ เอื้อให้มีวัตถุดิบหลากหลาย สามารถผลิตและสกัดสารสำคัญจากสมุนไพรไทย เพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ตรงตามความต้องการ แต่ไม่เพียงพอยังต้องนำเข้าสมุนไพรส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าในรูปวัตถุดิบและสารสกัดเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบ

“สมุนไพรไทย” ไปไกลแค่ไหน?

อย่างไรก็ตาม สมุนไพรไทยจะไปไกลแค่ไหน ประเทศไทยยังคงมีโอกาสที่จะไปได้อีกไกลมีโอกาสในการพัฒนาอีกมากเนื่องจากไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลาย เพียงแต่เรายังขาดการวิจัยและพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ เราต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมและการวิจัยอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และให้ผู้ประกอบการเข้าถึงนวัตกรรมและงานวิจัยได้ ประกอบกับรัฐบาลต้องส่งเสริมให้ถูกจุด เช่น เริ่มจากการสนับสนุนให้เมืองสมุนไพรปลูกสมุนไพรทั้ง 12 ชนิดซึ่งรัฐบาลกำหนดให้เป็นสมุนไพรเป้าหมายให้ครบวงจร ตั้งแต่การศึกษาวิจัยจนถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมให้สถานพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศใช้ยาสมุนไพรดังกล่าว รักษาโรคควบคู่กับยาแผนปัจจุบัน ให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน เหมือนกับที่ประเทศจีนทำ

และสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากเช่นกันคือ การที่สมุนไพรจะไปสู่สากลจะต้องทำให้เป็นที่รู้จักทั่วไป มีความเชื่อมั่นในสมุนไพรไทย และแพทย์แผนไทย และนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์สมุนไพรรูปแบบต่าง ๆ ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

สจล.เจ๋งเปิดตัว “แอนตาเวียร์” สมุนไพรไทยต้านโควิด

“พรรคกล้า”จี้รัฐเร่งวิจัย-จดลิขสิทธิ์สมุนไพรไทยสู้โควิด

ปตท.ผนึกม.มหิดลวิจัย-พัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยสู่ตลาดโลก

สกินแคร์สมุนไพรไทย ทางรอดท่ามกลางโควิด 19

ยื่นนายกฯ ถอด 13 สมุนไพรไทยจากวัตถุอันตราย