จับอาการรัฐ-เอกชน ไทยเอาโควิดไม่อยู่ เศรษฐกิจเสี่ยงโต 0%

22 ก.ค. 2564 | 05:14 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ค. 2564 | 12:31 น.

เสียงสะท้อนจากผู้นำภาคเอกชนที่แสดงความกังวลต่อทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจไทย โดยล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.ประจำเดือน ก.ค.ได้ปรับลดคาดการณ์ขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) ไทยลงจาก 0.5-2% ที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมิถุนายน ลงเหลือ 0-1.5%

จากเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญความเสี่ยงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรง มากขึ้น ขณะที่ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์ส่งออกไทยจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นที่ระดับ 8-10% จากเดิมคาดการณ์ไว้จะขยายตัวได้ 5-7% ตามทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจการค้าโลกที่ฟื้นตัว

 

อย่างไรก็ดีแม้ภาคส่งออกยังมีทิศทางขาขึ้นแต่ผู้นำภาคเอกชนทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ออกมายอมรับและแสดงความกังวลต่อสถานการณ์โควิดที่มีการระบาดรุนแรง และลุกลามขยายวงเข้าสู่คลัสเตอร์โรงงานผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น

 

โดยโรงงานที่มีผู้ติดเชื้อได้รับผลกระทบทำให้กระบวนการผลิตต้องหยุดชะงัก และกระทบการส่งมอบสินค้าที่ล่าช้าเป็นลูกโซ่ หากพนักงาน/แรงงานในภาคผลิตติดเชื้อกันมาก ๆ เครื่องยนต์ส่งออกซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักที่เหลืออยู่เพียงเครื่องยนต์เดียวในการขับเคลื่อนและพยุงเศรษฐกิจไทยในยามนี้อาจสะดุดลง ทำให้คาดการณ์ส่งออก (สัดส่วนเกือบ 70% ของจีดีพี) ไม่เป็นไปตามเป้าหมายได้ 

 

จับอาการรัฐ-เอกชน ไทยเอาโควิดไม่อยู่ เศรษฐกิจเสี่ยงโต 0%

ขณะที่ล่าสุดรัฐบาลได้ปรับเพิ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) หรือพื้นที่ล็อกดาวน์จาก 10จังหวัดเพิ่มเป็น 13 จังหวัด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) จาก 21 จังหวัดเป็น 53 จังหวัด ทำให้ในภาพรวมทั้งประเทศเวลานี้ไม่เหลือพื้นที่สีเขียวให้เห็นอีกแล้ว เหตุผลครั้งนี้เพื่อจำกัดการเคลื่อนย้ายและการดำเนินกิจกรรมของบุคคลให้มากที่สุด(เริ่ม 20 ก.ค.) และเพื่อกดกราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เวลานี้ทะลุหลัก 1 หมื่นคนต่อวันและเสียชีวิตเกิน 100 คนต่อวันให้ลดลง

 

สุพันธุ์  มงคลสุธี

 

ภาคเอกชนชี้ว่าการใช้เงินเยียวยาภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ในครั้งนี้ที่จะใช้เงินประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาทคงไม่เพียงพอ โดยนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.แนะรัฐบาลผ่านสื่อว่า จำเป็นต้องกู้เงินเพิ่มเติมอีกไม่ตํ่ากว่า 5 แสนล้านบาท (ไม่รวมเงินกู้ก้อนที่สอง 5 แสนล้านบาท จากก้อนแรกกู้แล้ว 1 ล้านล้านบาท) จากสถานการณ์โควิดยังเลวร้าย และมีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นมาก ซึ่ง ส.อ.ท.เคยประเมินก่อนหน้านี้ว่าการรับมือโควิดในครั้งนี้รัฐคงต้องกู้ไม่ตํ่ากว่า 2 ล้านล้านบาท

 

สอดคล้องกับนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท.ที่ชี้ว่ารัฐควรต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบอีกอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาทในการพยุงเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้จนถึงสิ้นปี โดยมาตรการเยียวยาล่าสุดช่วยได้แค่ระยะสั้น แต่ไม่สามารถทำให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีอยู่ได้ในระยาว

 

สนั่น  อังอุบลกุล

 

ขณะที่นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยให้ความเห็นว่า จากที่มีหลายฝ่ายประเมินจะมีผู้ ติดเชื้อโควิดทะลุ 1.5 หมื่นคนต่อวันในเวลาอันใกล้นี้ มองว่าทุกอย่างในเวลานี้มีความเป็นไปได้หมด ส่วนเป้าหมายการเปิดประเทศใน 120 วัน เวลานี้ยอมรับว่าค่อนข้างริบหรี่ หากจะทำให้ได้สิ่งสำคัญสุดคือภาครัฐต้องเร่งบริหารจัดการให้วัคซีนมีจำนวนเพียงพอกับความต้องการของทุกภาคส่วน จากที่เวลานี้วัคซีนขาดแคลนเป็นอุปสรรคมาก หากสามารถจัดหาวัคซีนได้ตามเป้า ก็ยังสามารถเร่งระดมฉีดได้ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดสแน่นอน

 

ที่สำคัญในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่เป็นหัวใจของประเทศ ต้องเอาให้อยู่ ไม่เช่นนั้นแล้วรัฐบาลต้องใช้งบในการฟื้นฟูและเยียวยาภาคธุรกิจและประชาชนอีกมหาศาล ขณะที่เงินกู้ 5 แสนล้านบาทที่รัฐบาลเตรียมไว้จำเป็นต้องเร่งนำมาใช้ในช่วงนี้โดยเร็ว

 

บทสรุปหากจับประเด็นจากเสียงสะท้อนผู้นำภาคเอกชน ชี้ให้เห็นว่า หากนับจากนี้ไทยยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดให้อยู่ในวงจำกัดได้ อาจมีผลทำให้ต้องมา ปรับจีดีพีกันอีกหลายรอบ ซึ่งที่สุดแล้วจีดีพีของไทยในปีนี้อาจไม่ขยายตัวหรือโต 0% ก็เป็นได้