หอการค้าฯชี้ล็อกดาวน์เพิ่ม กระทบ ศก.1.2 แสนล้าน จี้เร่งใช้เงินกู้ 5 แสนล้าน

18 ก.ค. 2564 | 12:06 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2564 | 21:35 น.

“สนั่น”ประธานหอการค้าฯ ขอความชัดเจนรัฐบาลเรื่องทำงานที่บ้าน ครอบคลุมแค่ไหน หลังสั่งยกระดับล็อกดาวน์เพิ่มเป็น 13 จังหวัด ชี้กระทบเศรษฐกิจเพิ่ม 1 เดือนกว่า 1.2 แสนล้าน แนะต้องมีมาตรการช่วยลดค่าใช้จ่ายและเสริมรายได้ เงินกู้ 5 แสนล้านต้องเร่งนำมาใช้โดยเร็ว

จากที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 28) เพื่อยกระดับมาตรการล็อกดาวน์ เพิ่มความเข้มข้นของมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการบังคับใช้อย่างจริงจังเพิ่มเติม

 

โดยประกาศกำหนดปรับปรุงพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เพิ่มจาก 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด(กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครปฐม นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา ยะลา สงขลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร) โดยมีการเพิ่มมาตรการเพื่อให้ลดการเดินทางที่ไม่จะเป็นในหลาย ๆ กิจการ เพื่อควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อ หลังจากดำเนินการยกระดับมา 1 สัปดาห์แล้วแต่การระบาดยังไม่ทุเลาลง ทั้งตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง

 

พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา

 

ทั้งนี้กำหนดให้การยกระดับล็อกดาวน์ล่าสุดมีผลวันที่ 20 ก.ค. 2564 ยกเว้นเฉพาะมาตรการขนส่งสาธารณะ ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด และการขนส่งสาธารณะทุกประเภทระหว่างจังหวัดทั่วประเทศ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. 2564 นั้น
 

 

นายสนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยว่า  มีความเห็นและข้อเสนอแนะใน 4 เรื่องเกี่ยวกับการล็อกดาวน์เพิ่มเติมของรัฐบาลคือ 1. ขณะนี้ภาคเอกชน ต้องการความชัดเจนในการดำเนินการ ประกาศที่ออกมาควรมีรายละเอียดเพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการมีการเตรียมความพร้อมรับมือมาตรการต่าง ๆ เพราะแต่ละธุรกิจต้องเตรียมแผนสำรองเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าได้ แม้จะมีการจำกัดการเคลื่อนย้ายของคนก็ตาม

 

ยกตัวอย่างเช่น การยกระดับให้ทำงานที่บ้าน(WFH) สูงสุด ของทั้งภาครัฐและเอกชนก็เขียนแบบให้ตีความเองตามความจำเป็น ว่าจะให้ทำงานที่บ้านทางอิเล็คทรอนิกส์ขนาดไหน ทำให้การอาจจะยังมีการเดินทางเคลื่อนย้ายของคนในช่วงนี้อยู่

 

 

2.สำหรับที่มีการยกระดับเพิ่มใน 3 จังหวัด เห็นว่าเป็นจังหวัดที่มีภาคการผลิตสูงมาก ที่ส่งผลกับเครื่องจักรที่ขับเคลื่อนประเทศไทยอยู่ตัวเดียวตอนนี้ คือ ผลิตเพื่อส่งออก ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันภาคการผลิต ควรต้องมีมาตรการเชิงรุกในการตรวจ การคัดแยก และจัดสรรวัคซีนให้ภาคการผลิตด้วย เพื่อไม่ให้ supply chain หยุดชะงัก

 

3. จากการประเมินความเสียหายเบื้องต้น คาดว่าจะเพิ่มจากเดิมที่ประมาณไว้ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อวัน เป็นวันละ 3,000-4,000 ล้านบาทต่อวัน ถ้าคำนวณผลกระทบ 1 เดือน ก็จะประมาณ 90,000-120,000 ล้านบาท เพิ่มเติมจากผลกระทบเดิม

 

ดังนั้นการเยียวยาเท่าที่ออกมาก่อนหน้านี้คงไม่พอ ดังนั้นเพื่อให้การล็อกดาว์น มีประสิทธิภาพมากขึ้น คนลดการเคลื่อนย้ายจริง ต้องมีมาตรการช่วยลดค่าใช้จ่ายและเสริมรายได้ในช่วงนี้ เงินกู้ที่รัฐบาลเตรียมไว้ 500,000 ล้านบาท จำเป็นต้องนำมาเร่งใช้ในช่วงนี้ อย่างเร็ว

 

4. รัฐต้องเร่งกระจายวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ที่มีการระบาดหนักเป็นการด่วน เพื่อลดจำนวนตัวเลขผู้ที่มีอาการหนักและเสียชีวิต โดยเอกชนก็พร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อประชาชนคนไทยจะได้วัคซีนให้ได้เร็วขึ้น