ขณะที่เวลานี้วัคซีนไม่เข้ามาตามเป้าหมาย ประเทศไทยต้องเผชิญวิกฤติโควิดในระลอกที่ 3-4 อย่างหนักหน่วง ล่าสุดตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงระดับ 1 หมื่นคนต่อวัน จากถูกโควิดสายพันธุ์ใหม่ “เดลต้า” ที่ติดเชื้อได้เร็วเข้าโจมตี
ผลกระทบนี้ยังลุกลามขยายวงเข้าสู่คลัสเตอร์โรงงาน หรือภาคการผลิตเพื่อหล่อเลี้ยงคนในประเทศและเพื่อส่งออก ที่แม้ล่าสุดสถานการณ์ส่งออกของไทยเริ่มกลับมาขยายตัวได้ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก ตัวเลขเดือนมิถุนายนล่าสุดส่งออกไทยทำนิวไฮ มีมูลค่าสูงถึง 23,699 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวสูงถึง 43.8% สูงสุดในรอบ 11 ปี และภาพรวมส่งออก 6 เดือน มีมูลค่า 132,335 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (4.01 ล้านล้านบาท)ขยายตัวเป็นบวกถึง 15.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งดูตามทิศทางเศรษฐกิจและการค้าโลกแล้ว ภาคส่งออกของไทยยังมีทิศทางแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้
อย่างไรก็ดีจากไวรัสโควิดที่ลามกระทบในภาคการผลิตอย่างรุนแรงในเวลานี้ ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออกของไทยมีความน่าเป็นห่วง เพราะหากมีพนักงานหรือคนงานติดเชื้อ นั่นหมายถึงต้องมีการคัดแยกคนติดเชื้อและไม่ติดเชื้อออกจากกัน หลายโรงอาจต้องหยุดไลน์ผลิตชั่วคราวเพื่อแก้ไขสถานการณ์ ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้กำลังผลิตที่ลดลง มีผลต่อการส่งมอบสินค้า และอาจกระทบกับเครื่องยนต์ส่งออกที่อาจสะดุดลงได้ สร้างความกังวลใจแก่ทุกฝ่าย
ทั้งนี้ตัวเลขน่าตกใจ โดยจากข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรม(เก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย.-26 ก.ค.2564) จำนวนโรงงานที่พบมีการระบาดของเชื้อโควิดทั่วประเทศมีจำนวน 486 แห่ง ผู้ติดเชื้อสะสม 34,938 คน ครอบคลุมพื้นที่ 48 จังหวัด
โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 5 อันดับแรกได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร 93 โรงงาน, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ 67 โรงงาน, อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม 39 โรงงาน,อุตสาหกรรมโลหะ 38 โรงงาน และอุตสาหกรรมพลาสติก 35 โรงงาน
ล่าสุดเพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับภาคการผลิต และโรงงานอุตสาหกรรมในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิดที่อาจรุนแรงขึ้นในโรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยร่วมกับกรมควบคุมโรค และโครงการ Healthy Living ได้ออกคลิปวีดีโอ “ติด COVID-19 ไม่ต้องปิดโรงงาน ด้วย Bubble & Seal”
เนื้อหาสำคัญระบุโรงงานห่วงโซ่สุดท้ายของเศรษฐกิจสร้างอาชีพและรายได้ หากวันนี้โรงงานต้องปิด การผลิตหยุดเดิน เศรษฐกิจล้ม เราจะเดินหน้ากันต่อไปอย่างไร ทั้งนี้สถานประกอบการควรเตรียมรับมือการแพร่ระบาดในโรงงานอย่างไร ติดตามได้เลยจากคลิปนี้ https://youtu.be/2ejVegiKBjA