ประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม Pre-Summit การประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก (The 2021 Food Systems Summit) ระหว่างวันที่ 26 - 28 กรกฎาคม 2564 ซึ่งในโปรแกรมของประเทศไทย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานวิดิทัศน์เปิดการประชุม ในหัวข้อ “Unleashing the Power of the Plate – for the Healthy of People and Planet” และทรงกล่าวถึงประสบการณ์การทรงงาน “โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียน” ของประเทศไทยในที่ประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลกของสหประชาชาติ (Pre-summit of the UN Food Systems Summit)
ในช่วงบ่ายวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 เวลา 16.30-18.30 น. ตามเวลาประเทศไทย สหประชาชาติ (UN) ได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงกล่าวสุนทรพจน์ ผ่านระบบการประชุมทางไกลในที่ประชุมสุดยอดผู้นำระบบอาหารโลก (Pre-summit of the UN Food Systems Summit) ซึ่งมีผู้นำประเทศ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเกษตรและอาหาร กว่า 140 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงกล่าวต่อที่ประชุมว่า ได้ทรงงาน “โครงการอาหารกลางวัน” และ “โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียน” มากว่า 40 ปี เพราะโรงเรียนเป็นศูนย์กลางของชุมชนและศูนย์กลางของการเรียนรู้ และโรงเรียนเป็นพื้นที่แห่งการพัฒนาด้าน อาหาร สุขภาพ และการศึกษา เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
โดยเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา พระองค์ท่านเริ่มโครงการในพื้นที่ทุรกันดาร โดยจัดหาเมล็ดพันธุ์ผัก เมล็ดถั่ว กล้าไม้ผล และพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ เช่น สัตว์ปีก ปศุสัตว์ สุกร แพะ และปลา มอบให้แก่โรงเรียน มีการส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้การอนุรักษ์น้ำและดิน มีการใช้สารชีวภาพในการควบคุมและกำจัดศัตรูพืชด้วยตัวเองด้วยวิธีธรรมชาติในแปลงเกษตรของโรงเรียนเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีอันตราย ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้วิธีการบูรณาการความรู้จากหลายวิชาเข้าด้วยกัน และยังสามารถขายผลผลิตจากแปลงเกษตรของโรงเรียนให้กับโรงอาหารของโรงเรียนในรูปแบบของระบบสหกรณ์อีกด้วย
“โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียน” เป็นแบบต้นแบบของการบริโภคอย่างยั่งยืนในปัจจุบัน เพราะทุกคนได้เรียนรู้และเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและสุขภาพ ในครัวของโรงเรียน ครู นักเรียน และผู้ปกครอง จะได้เรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ของ อาหาร โภชนาการ และสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ หากผลผลิตทางการเกษตรในโรงเรียนผลิตไม่เพียงพอสำหรับนักเรียน โรงเรียนก็จะจัดซื้อวัตถุดิบภายในหมู่บ้านมาใช้ทำอาหาร ในส่วนของห้องพยาบาลของโรงเรียน ครู และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จะสอนให้นักเรียนเข้าใจถึงสุขภาพ การสุขาภิบาล อาหารที่สะอาด น้ำดื่มที่สะอาด การล้างมือ สภาพแวดล้อมที่สะอาด นอกจากนี้ห้องพยาบาลในโรงเรียน จะให้วิตามินและแร่ธาตุเสริมแก่เด็กนักเรียน เช่น วิตามินรวม ไอโอดีน และธาตุเหล็กด้วย
การตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ทั้งวัฒนธรรมระดับท้องถิ่นและระดับชาติเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้จะเชื่อมโยงสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจในระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 สะท้อนให้เห็นว่าระบบสาธารณสุขและโภชนาการมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ผลจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดทำให้ต้องประกาศปิดสถานศึกษา ดังนั้น จึงต้องย้ายการศึกษาจากโรงเรียนไปสู่ครัวเรือนและชุมชน เพื่อที่จะสามารถให้การศึกษาเด็กได้อย่างต่อเนื่องมากที่สุด
กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเน้นย้ำถึงความสำคัญถึงบทบาทของโรงเรียนในระบบอาหารว่า “ในมุมมองของข้าพเจ้าประเทศไทยก็มีศักยภาพเทียบเท่ากับประเทศอื่นๆ ที่โรงเรียนเป็นสถานที่ที่ให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เปรียบเสมือนศูนย์กลางของสมาชิกในชุมชน ดังนั้น โรงเรียนจึงเหมาะกับเป็นสถานที่สำหรับการพัฒนาด้านอาหาร สุขภาพ และการศึกษา” เพื่อให้บรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน”
สุดท้าย กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรวงกล่าวว่า “หากเราช่วยเหลือแบ่งปันและห่วงใยกัน เราจะสามารถผ่านทุกปัญหาไปด้วยกัน”
ด้าน ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย กล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุม Pre-Summit ผู้นำด้านระบบอาหารโลกของสหประชาชาติ (The 2021 UN Food Systems Summit) เพื่อนำเสนอแนวทางในการพลิกโฉมระบบอาหารของประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน
โดยชูนโยบาย ‘3S’ เน้นเรื่อง ความปลอดภัยอาหาร (Safety) ความมั่นคงทางอาหาร (Security) และความยั่งยืนของระบบอาหารและภาคเกษตร (Sustainability) นอกจากนี้ ประเทศไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) มาใช้ในการพัฒนาและปรับตัว โดยมีการสนับสนุนการวิจัยและลงทุนทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มีการนำ “เกษตรอัจฉริยะ” และใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาภาคเกษตรให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าวว่า ประเทศไทยพร้อมที่จะเป็น “ครัวของโลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Kitchen of the World)” โดยช่วงที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมได้จัดเวที “ชวนคิดชวนคุย” (National Dialogues) รวมทั้งมีการประชุมกับหน่วยงานสหประชาชาติ และสำนักงาน FAO ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อรวบรวมแนวคิด ข้อเสนอแนะ และแนวทางในการปรับเปลี่ยนพลิกโฉมระบบอาหารและภาคเกษตรของประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน
เช่น 1. การสร้างความเข้มแข็ง ในการพึ่งพาตนเองด้านอาหารตั้งแต่ระดับครัวเรือน โดยประเทศไทยได้น้อมนำ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และเกษตรทฤษฎีใหม่ มาเป็นแนวทางในการสร้างความเข้มแข็งให้ระบบอาหารและภาคเกษตรในระดับหมู่บ้านและตำบลทั่วประเทศ 2.การบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเน้นความสำคัญของบทบาทเกษตรกรรายย่อย สตรีและยุวเกษตรกร 3. การขับเคลื่อนนโยบายโลกไปสู่การปฏิบัติจริงในระดับพื้นที่ และ4.การลดความเหลื่อมล้ำและทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างยุติธรรม
ดร.เฉลิมชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า เราต้องมีระบบอาหารที่รักษาสมดุลในทุกมิติ ประชาชนทุกคนต้อง “กินอิ่ม” “มีสุขภาพดี” และมีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ปิดท้าย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมการประชุม Ministerial Roundtable เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดในการปรับเปลี่ยนระบบอาหารของโลก และการดำเนินงานตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลายหลายทางชีวภาพ และการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย (Rio Convention) โดยมีนายระพีภัทร์ จันทร์ศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.วนิดา กำเนิดเพ็ชร ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ และ ดร.ธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูตฝ่ายเกษตร และผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ FAO/IFAD/WFP ณ กรุงโรม เข้าร่วม
ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวในที่ประชุมว่า ที่ผ่านมาระบบการผลิตอาหารได้สร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างความเสื่อมโทรมของดิน ทำลายทรัพยาการธรรมชาติ และทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้นประเทศไทยจึงมอง “ระบบอาหาร” แบบองค์รวม ในการปรับเปลี่ยนและพลิกโฉมไปสู่ “ระบบอาหารและเกษตรที่ยั่งยืน” ซึ่งจะต้องจับมือร่วมกันเพื่อเร่งดำเนินการ
ดังนี้ 1. ต้องทำให้ทุกคนมี "อาหารที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ" ในราคาที่ไม่แพงและเข้าถึงได้ 2. ต้องเชื่อมโยงทุกนโยบาย บูรณาการการทำงานของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อนำไปสู่การสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน” ต้องคิดใหม่ว่าต้องทำอย่างไร จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จะผลิตอาหารหรือทำเกษตรอย่างไรไม่ให้ส่งผลกระทบ และไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ
3. ขับเคลื่อนนโยบาย ‘3S’ ไปสู่การปฏิบัติจริงใน เรื่อง ความปลอดภัยอาหาร (Safety) ความมั่นคงทางอาหาร (Security) และ ความยั่งยืนของระบบอาหารและภาคเกษตร (Sustainability) 4) “การสร้างความเข้มแข็งของระบบอาหารในระดับครัวเรือนและระดับท้องถิ่น” ซึ่งประเทศไทยได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นหลักการพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ และ 5) จะต้องร่วมกันปรับสมดุลใหม่ของระบบอาหารและการเกษตร และรัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญ เพื่อกำหนดเป็น “วาระแห่งชาติด้านระบบอาหารและเกษตรที่ยั่งยืน”
นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังกล่าวในช่วงท้ายต่อที่ประชุม UN ว่า “ขอเรียกร้องให้ทุกประเทศและทุกคน ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างระบบอาหารที่ดีขึ้น เพื่อทำให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ต่อไป”