จากที่ประชุม ศบค.(1 ส.ค.64) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาด เป็นประธานการประชุม ได้มีมติมติขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีแดงเข้ม จากเดิม 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ตาก นครปฐม นครนายก นครราชสีมา นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี เพชรบูรณ์
ยะลา ระยอง ราชบุรี ลพบุรี สงขลา สิงห์บุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง โดยขยายล็อกดาวน์ 14 วัน(เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.) และจะมีการพิจารณาสถานการณ์ในวันที่ 18 สิงหาคมอีกครั้งหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นอาจมีการขยายระยะเวลาใช้มาตรการถึง 31 สิงหาคม 2564
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การขยายเวลาล็อกดาวน์ดังกล่าว ไม่เหนือความคาดหมาย เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดยังรุนแรง และในแต่ละวันยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และตัวเลขก็กดไม่ลง จากเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่(เดลต้า) ทั้งนี้ในส่วนของภาคเอกชนก็พยายามช่วยเหลือตัวเองโดยไม่รอพึ่งรัฐบาลอย่างเดียว ทั้งการใช้มาตรการ Bubble & Seal และ Factory Isolation ในโรงงาน เพื่อแยกคนที่ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อออกจากกันเพื่อให้ภาคการผลิตและส่งออกยังเดินหน้าต่อไปได้
นอกจากนี้ได้ร่วมมือ กับ กทม.ในเรื่องสถานที่ฉีดวัคซีน 25 ศูนย์ จากวัคซีนที่จะใช้ในการฉีดใกล้จะหมดลง ล่าสุดทางกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมจัดส่งวัคซีนอีก 7 แสนโดสมาให้กับทางกทม.เพื่อกระจายการฉีดในแต่ละศูนย์ต่อไป
“หากรัฐบาลขยายเวลาการล็อกดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้ม และควบคุมสูงสุดจาก 13 จังหวัดเป็น 29 จังหวัดออกไปอีก 1 เดือน คาดเศรษฐกิจจะได้รับความเสียหายเพิ่ม จากเดิมล็อกดาวน์ 13 จังหวัดซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศคาดเศรษฐกิจจะเสียหาย 2-3 แสนล้านบาทต่อเดือน เมื่อเพิ่มเป็น 29 จังหวัดก็จะเสียหายเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 แสนล้านบาทต่อเดือน เนื่องจากจังหวัดที่เพิ่มขึ้นมาเป็นย่านเศรษฐกิจและโรงงาน เช่น นครราชสีมา ระยอง สระบุรี สมุทรสงคราม เป็นต้น”
อย่างไรก็ดีในสัปดาห์หน้าทางหอการค้าไทยจะนำข้อเสนอจากที่ประชุม 40 ซีอีโอเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาต่อรัฐบาล โดยจะนำเสนอมาตรการเพื่อควบคุมดูแลการบริหารจัดการโควิดให้คลี่คลายลง ทั้งมาตรการระยะสั้น และระยะยาว ระยะสั้น เช่น การแยกคนติดเชื้อและไม่ติดเชื้อออกจากกันจะทำอย่างไร ระยะยาวจะทำอย่างไร เช่นการผลิตวีคซีนเอง การจัดหา Rapid Antigen Test Kit ให้เพียงพอ และมีราคาถูกประชาชนสามารถเข้าถึงได้ จะทำอย่างไร เป็นต้น
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การขยายเวลาล็อกดาวน์ไม่เหนือความคาดหมาย ส่วนการเพิ่มจำนวนจังหวัดล็อกดาวน์เป็น 29 จังหวัด มองว่าจะยิ่งทำให้ภาคการผลิตและเศรษฐกิจยิ่งชะลอตัว และได้รับผลกระทบมากขึ้น เพราะเดิมล็อกดาวน์ 13 จังหวัดซึ่งถือเป็นสัดส่วน 70-80% ของภาคการผลิตของประเทศก็ได้รับผลกระทบอยู่แล้ว เมื่อเพิ่มอีกหลายจังหวัด เช่น ระยอง นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีอีกหลายโรงงานตั้งอยู่ อาจทำให้เศรษฐกิจสะดุดมากขึ้น หากคนงาน และประชาชนไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และมีการตรวจคัดกรองที่รวดเร็ว และดีพอ จากการระบาดอาจเพิ่มขึ้น