นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายในงานพิธีเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการระบบรถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิตและช่วงบางซื่อตลิ่งชัน ว่า สำหรับการเปิดให้บริการรถไฟสายสีแดงทั้ง 2 เส้นทาง ประกอบด้วย ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 10 สถานี ใช้ระยะเวลาการเดินทางประมาณ 25 นาที และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 3 สถานี ใช้ระยะเวลาการเดินทางประมาณ 15 นาที เบื้องต้นรฟท.ได้มอบหมายให้บริษัทรถไฟฟ้า รฟท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เป็นผู้บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาระบบรถไฟฟ้าในช่วงแรก เนื่องจากเป็นผู้มีประสบการณ์ในการเดินรถ หลังจากนั้นจะเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาบริหารต่อไป
ส่วนตารางการเดินรถไฟสายสีแดง จะเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค.-ปลายเดือนพ.ย. 2564 ตั้งแต่เวลา 6.00-20.00น.โดยขบวนรถจะให้บริการทุกๆ 15-30 นาที สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 1,710 คนต่อเที่ยว ขณะเดียวกันรฟท.ได้กำหนดจำนวนผู้โดยสารภายในขบวนรถไม่เกิน 50%ของที่นั่ง ตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังจากนั้นจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์แบบเต็มรูปแบบต่อไป
นายนิรุฒ กล่าวต่อว่า รฟท.ได้ร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ปรับเส้นทางการดินรถโดยสารประจำทางและจัดระเบียบรถแท็กซี่พื่อรองรับประชาชนใช้บริการรถไฟสายสีแดง ซึ่งจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าอีก 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.จุดเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างรถไฟฟ้า MRT บางซื่อ สายสีน้ำเงินและสถานีกลางบางซื่อ 2.จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า MRT บางซ่อน สายสีม่วง 3.จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าโมโนเรลสถานีหลักสี่ สายสีชมพู และ 4.จุดเชื่อมทางเดินลอยฟ้า (Sky Walk) ของสนามบินดอนเมือง
ขณะเดียวกันความคืบหน้าโครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดง ปัจจุบันรฟท.เร่งดำเนินการก่อสร้างทั้งหมด 4 เส้นทาง ประกอบด้วย ช่วงรังสิต - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช ช่วงตลิ่งชัน – ศาลายา และช่วงบางซื่อ – หัวลำโพง โดยเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และรถไฟไทย-จีน (ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา) ซึ่งจะเปิดให้บริการภายในปี 2568 ทั้งนี้รฟท.มีแผนบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ของสถานีกลางบางซื่อ โดยขอรับเงินกู้จากองค์การความมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า)
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ส่วนค่าโดยสารรถไฟสายสีแดง ที่ผ่านมาทางกระทรวงคมนาคมได้ประชุมร่วมกับรฟท.,กรมการขนส่งทางราง,สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) แล้วพบว่า หลักในการคิดค่าโดยสารใช้สูตรการคิดค่าแรกข้าวของสถานี โดยใช้สูตรการคำนวณของ ADB ในปี 2544 อยู่ที่ 10 บาทx ดัชนีผู้บริโภค (CPI :Non food and Beverage) ซึ่งมีค่าดัชนีอยู่ที่ 1.88 บาท+10 บาท= 11.83 บาท ทำให้อัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 12-42 บาท เฉลี่ยการเดินทางอยู่ที่ 2 บาทต่อกิโลเมตร (กม.)
“ได้มอบหมายให้รฟท.,กรมการขนส่งทางราง,สนข. ศึกษาตั๋วโดยสารพิเศษรายเดือน สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ,นักเรียน,ผู้ด้อยโอกาส เพื่อลดค่าครองชีพประชาชน ทั้งนี้ได้มีการศึกษาการเก็บอัตราค่าโดยสารแล้วจะทำให้ผลประกอบการรถไฟสายสีแดง พบว่า หากมีการเปิดพื้นที่เชิงพาณิชย์สามารถนำรายได้มาชดเชยให้กับค่าโดยสารดังกล่าวได้ เนื่องจากการดูแลค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคภายในสถานีกลางบางซื่อในแต่ละเดือนค่อนข้างสูง ซึ่งจะต้องรายงานให้กระทรวงคมนาคมทราบ โดยคำนึงถึงประชาชนเป็นหลักและโครงการฯ สามารถดำเนินการต่อไปได้ เนื่องจากเป็นการกู้เงินลงทุนของรัฐบาล ทั้งนี้ตามแผนภายใน 3-5 ปี จะเปิดประมูลในรูปแบบพีพีพีโดยให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ต่อไป”
ทั้งนี้โครงการรถไฟส่วนต่อขยายสายสีแดงทั้ง 4 โครงการ ปัจจุบันรฟท.อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปลายปีนี้-ต้นปี 2565 เนื่องจากทั้ง 4 โครงการถือเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบแล้ว