นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ทำการศึกษานโยบายด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อม พบว่า นานาประเทศให้ความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ไทยได้มีความพยายามที่จะขับเคลื่อน SDGs ด้วยเช่นกัน โดยมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่มีสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนการดำเนินการ
และเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2564 นายกรัฐมนตรียังได้ประกาศให้เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) เป็นวาระแห่งชาติอีกด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในเรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องที่ภาคธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญ
นอกจากนี้ ยังพบว่า ประชาชนทั่วไปเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมและหันมาให้ความสนใจต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ผลการสำรวจของบริษัท Nielsen ในปี 2560 ระบุว่าผู้บริโภคทั่วโลกมีการปรับพฤติกรรมในการเลือกซื้อสินค้า โดยให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกเหนือไปจากการคำนึงถึงราคาและความสะดวกในการซื้อสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคในกลุ่ม Millennial และ Gen Z ที่ให้ความสำคัญกับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่ากลุ่ม Gen X และกลุ่ม Baby Boomer และผลการสำรวจดังกล่าวยังแสดงถึงข้อมูลที่น่าสนใจอีกประการ คือ ผู้บริโภคจากประเทศกำลังพัฒนามีความคาดหวังให้มีการรักษาสิ่งแวดล้อมมากกว่าผู้บริโภคจากประเทศพัฒนาแล้ว
ทั้งนี้ประเด็นสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญ และปรับตัวเพื่อให้สามารถผลิตสินค้าและบริการที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อวิถีการดำรงชีวิตที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังจะกลายเป็นตลาดหลักในวันข้างหน้า
สำหรับตัวอย่างของการปกป้องสิ่งแวดล้อมในภาคธุรกิจ เช่น ในภาคการเงิน การลงทุน นักลงทุนทั่วโลก สนใจที่จะเลือกลงทุนในบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance; ESG) ซึ่งตั้งแต่ปี 2558 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้จัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment หรือ THSI) เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่มีความโดดเด่นด้าน ESG ที่ได้รับการประเมินระดับโดยสถาบันชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ และยังมีการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนอีกด้วย
ปัจจุบันการเติบโตทางเศรษฐกิจการค้า ส่วนหนึ่งเกิดจากการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิต ทั้งในมิติของปริมาณ ความรวดเร็ว หรือ ความสวยงาม เพื่อตอบสนองความต้องการในการอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น แต่การผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้นย่อมทำให้เกิดการใช้วัตถุดิบหรือทรัพยากรที่เพิ่มขึ้น
และการเกิดส่วนเกินขยะหรือมลพิษตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การบรรจุ การขนส่ง การอุปโภคบริโภค ซึ่งหากเรื่องเหล่านี้ไม่ได้รับการบริหารจัดการที่ดีย่อมส่งผลกระทบทางลบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ทุกภาคส่วนทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคควรร่วมมือกันเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม