พ่อค้าเปิดศึกแย่งซื้อ ดันราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มพุ่ง 3.30 บาท

03 ส.ค. 2564 | 07:37 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2564 | 17:08 น.

อัพเดท "ล๊อกดาวน์" ล่าสุด ผู้เลี้ยงไก่ไข่ตีปีกยิ้มร่า ผู้ค้าใจดีปรับราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มพุ่ง 3.30 บาท/ฟอง ชี้ตามต้นทุนการผลิต “ล้ง” เปิดศึกสู้ราคา ตามหาไข่ไก่กันควัก! “อีสาน” หนักสุด ผู้ค้า เตือนพาณิชย์ผวาซ้ำรอยปี 63

ชัยพร สีถัน

 

วันที่ 3 สิงหาคม 2564 นายชัยพร สีถัน อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยพรสหฟาร์ม จำกัด  เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” วันนี้เกษตรกรยิ้มได้ เพราะ ผู้ค้าใจดีปรับราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม 3.30 บาท/ฟอง ตามต้นทุนการผลิต เป็นข่าวดีมากสำหรับผู้เลี้ยง ส่วนกระทรวงพาณิชย์ เหมาไข่ไก่ จากห้างโมเดิร์นเทรดไปทำธงฟ้า มีผลกระทบเล็กน้อย เพราะวันนี้ฟาร์มไม่มีไข่ไก่ในมือแล้ว

 

ส่วนเรื่องการที่จะขอความร่วมมือการปรับลดราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มนั้นได้แจ้งทางกรมการค้าภายในไปแล้วว่า ให้ไปซื้ออาหารสัตว์มาขายให้เกษตรกร ทุกฟาร์ม ลด 40% จากราคาหน้าโรงงาน ถึงจะมาคุยกันเรื่องการปรับราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม

 

มาโนช ชูทับทิม

 

ด้าน นายมาโนช ชูทับทิม ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ กล่าวว่า เป็นเรื่องของแต่ละฟาร์มเวลาผู้เลี้ยงขึ้น สังเกตหรือไม่ จะปรับราคาขึ้นแค่ 10 สตางค์ ส่วนคนขายชอบไปปั้นตัวเลขกัน ขึ้นมากกว่าอยู่แล้ว และในเรื่องการปรับราคา ทางราชการไม่ได้ห้าม แต่เป็นความคิดเห็นร่วมกันอยู่ในภาวะที่เกิดเหตุวิกฤติของชาติบ้านเมืองในขณะนี้เรื่องโรคระบาดที่ควรจะร่วมมือกัน ราคาไข่ไก่ตามประกาศของสมาคมฯ ราคาไข่ไก่คละ หน้าฟาร์ม 3 บาท/ฟอง ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2564 ประกาศยังคงเดิม ส่วนใครจะให้ราคาเท่าไรนั้น เป็นค้าขายปกติ


 

เคลื่อนย้ายไข่ไก่

 

แหล่งข่าววงการค้าไข่ไก่ เผยว่า สถานการณ์ราคาไข่ไก่ผิดปกติ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ทำไมไข่ไก่หายไป ไม่มีไข่ไก่บริษัทส่งมาเลย เป็นไปได้หรือไม่ จากผลกระทบที่ประเทศเกาหลีประสบปัญหาจากโรคระบาด จึงทำให้ไข่ไก่ส่วนนี้ถูกส่งออก

 

ผู้สื่อข่าว สอบถามไปยังกรมปศุสัตว์ ว่าทำไม ไข่ไก่ภาคอีสาน ถึงขาดหนักสุด ซึ่งทางกรมปศุสัตว์ ชี้แจงกลับมาว่า สถานการณ์ปัจจุบัน กทม.และภาคกลางเป็นพื้นที่การระบาด โควิด ประชาชนมีการบริโภคไข่ไก่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากต้องอยู่บ้านมากขึ้น และกังวลเรื่องการล๊อกดาวน์ ทำให้มีการซื้อกักตุนไว้บริโภคในครัวเรือน

 

พื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ผลิตหลักของประเทศ จึงมีการส่งไข่เข้า กทม. และภาคกลางจำนวนมากเพื่อรองรับการบริโภคที่เพิ่มขึ้น สำหรับภาคอีสานเป็นภาคที่มีการผลิตในพื้นที่ไม่เพียงพอกับการบริโภคต้องขนส่งไข่จากภาคกลางและภาคตะวันออกเข้าไปเพิ่ม เมื่อมีการบริโภคไข่ไก่ในภาคกลางเพิ่มขึ้นจึงอาจทำให้มีการขนส่งไปภาคอีสานลดลงได้

 

อีกด้านหนึ่งผู้ค้า ส่งสัญญาณเตือนไปยังกระทรวงพาณิชย์ ผวาซ้ำรอย เดือนมีนาคม 2563 อีกด้านก็เตือนพวกผู้ค้าให้แต่พอดี หากไม่มีที่มาที่ไป หากราชการมีการปูพรมตรวจโดนจับแล้วไม่คุ้มกัน ส่วนคนที่รับไข่จากฟาร์ม ถ้าวิ่งตามราคากัน ซื้อกันเกินประกาศ โดนตรวจขึ้นมา เสียเวลา  "เราเตือนแล้วนะ"