เริ่มแล้ว ทช.ขยายถนนหมายเลข2-อุดรธานี หนุนท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์

06 ส.ค. 2564 | 05:26 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ส.ค. 2564 | 14:06 น.

ทช.ขยายถนนหมายเลข2-อุดรธานี กว่า 7 กม. ดึงประชาชนท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ วัดป่าบ้านตาด หลังคืบหน้ากว่า 42 % คาดแล้วเสร็จภายในเดือนก.ย.65

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า กรมทางหลวงชนบท ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 – พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานีเพื่อรองรับปริมาณการจราจรของประชาชนที่เดินทางมาสักการะบูชาพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคล วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ขณะนี้มีก้าวหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 42 เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2565 

เริ่มแล้ว ทช.ขยายถนนหมายเลข2-อุดรธานี หนุนท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์

 

สำหรับการก่อสร้างมีระยะทางรวม7.395 กิโลเมตร แบ่งการก่อสร้างออกได้ดังนี้ช่วง กม.ที่ 0+000 เชื่อมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (กม.ที่ 447) รูปแบบโครงการเป็นถนนผิวจราจรคอนกรีต เสริมเหล็ก 4 ช่องจราจร ช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 2.50 เมตร ความยาว 800 เมตร ช่วง กม.ที่ 0+000 ถึง กม.ที่ 1+100 (กรณีเขตทาง 60 เมตร) รูปแบบโครงการเป็นถนนผิวจราจรแอสฟัลท์ติกคอนกรีต 4 – 6 ช่องจราจร ช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 2.50 เมตร ปรับปรุงภูมิทัศน์ ภูมิสถาปัตยกรรมบริเวณเกาะกลางและวงเวียนช่วง กม.ที่ 1+100 ถึง กม.ที่ 7+395 (กรณีเขตทาง 20 – 30 เมตร) รูปแบบโครงการเป็นถนนผิวจราจรแอสฟัลท์ติก คอนกรีต 4 ช่องจราจร ช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 1.50 – 2.50 เมตร

ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้รับหนังสือขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงมหาดไทย ในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์ของถนนสายแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 – พิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เพื่ออำนวยความสะดวก รองรับปริมาณการจราจรของพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวทั่วไปเดินทางมาสักการะบูชาพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน)ณ วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ให้สอดคล้องกับจำนวนของผู้ที่จะเดินทางมายังสถานที่แห่งนี้ในอนาคต

เริ่มแล้ว ทช.ขยายถนนหมายเลข2-อุดรธานี หนุนท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ ​​​​

อย่างไรก็ตาม ทช.ยังได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการออกแบบภูมิทัศน์ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและ ความสวยงาม เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นสายทาง ได้กำหนดให้มีจุดพักคอยหรือจุดนัดพบ บริเวณต้นทางขาเข้าและปลายทางขาออกของโครงการ พร้อมก่อสร้างทางเท้ากว้าง 5 เมตร และรองรับผู้พิการ พร้อมศาลาพักคอยผู้โดยสาร ประกอบกับในส่วนของภูมิทัศน์จัดให้มีไม้พุ่มดอก, จัดวางในกระถางคอนกรีตสำเร็จรูปเป็นช่วง ๆ และได้มีการประดับด้วยต้นถั่วบราซิลดอกเหลืองสวยงามตลอดสายทาง รวมถึงได้นำต้นไม้ประจำจังหวัดอย่างต้นทองกวาวที่มีดอกสดสีแดงปลูกเพื่อกันแนวเขตที่ดินของสายทางอีกด้วย