นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยผลการจัดสัมมนาออนไลน์ เรื่อง “FTA นำเกษตรไทย ทะลุโควิด ตะลุยตลาดมังกรและแดนภารตะ” เมื่อปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ว่า กรมฯ ได้ระดมกูรูจากภาครัฐและเอกชนร่วมถกและแบ่งปันประสบการณ์ แนะกลยุทธ์ชี้ช่องโอกาสสินค้าเกษตรไทยเจาะตลาดจีนและอินเดีย และการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งได้รับผลตอบรับอย่างดีจากผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ ทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านสินค้าเกษตร อาหาร และอาหารแปรรูป
จากการสัมมนา พบว่า มาตรการล็อคดาวน์จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ตลาดจีนและอินเดียต้องการผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปจากไทยมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงโอกาสการเติบโตของการค้าไทยที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ที่ไทยทำกับจีนและอินเดีย คือ FTA อาเซียน-จีน ไทย-อินเดีย และอาเซียน-อินเดีย ซึ่งทั้งสองประเทศได้ลดหรือยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ส่งออกจากไทยแล้ว ส่งผลให้ไทยมีโอกาสขยายตลาดส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น โดยสินค้าอาหารที่เติบโตได้ดีและนิยมในตลาดจีน เช่น สิ่งปรุงรส เครื่องแกงไทยสำเร็จรูป อาหารพร้อมปรุง ผักผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและอบแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ส่วนตลาดอินเดีย เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง น้ำผลไม้ที่มีวิตามิน ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และเครื่องเทศและสมุนไพร เป็นต้น
ด้านนางสาวจีรนันท์ หิรัญญสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ให้ข้อมูลว่า สินค้าที่มีโอกาสขยายตัวในตลาดจีน ได้แก่ สินค้าอาหารแปรรูป ในกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารสำหรับผู้สูงอายุและเด็ก และอาหารสัตว์เลี้ยง โดยปัจจุบันผู้บริโภคจีนหันสนใจสุขภาพและความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับข้อมูลผลิตภัณฑ์ อาทิ ส่วนประกอบ แหล่งที่มา และประโยชน์ของอาหาร รวมถึงการซื้อสินค้าออนไลน์ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ของจีนอีกด้วย จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะพัฒนาสินค้าและเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าให้ตรงกับความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคจีน
นางสาวสายทอง สร้อยเพชร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ให้ข้อมูลว่า สินค้าเกษตรไทยมีโอกาสขยายตัวในตลาดอินเดียสูงมาก โดยเฉพาะอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดและยังนิยมมากเป็นอันดับ 1 ในอินเดีย นอกจากนี้ ผู้บริโภคอินเดียยังนิยมผลไม้ไทย เช่น ลำไย เงาะ มะขามหวาน แก้วมังกร และฝรั่งกิมจู เป็นต้น อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไทยจะต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละรัฐของอินเดียด้วย เนื่องจากมีวัฒนธรรมและความนิยมการบริโภคที่แตกต่างกัน ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เสริมว่า สำหรับการขนส่งสินค้าในอินเดียอาจเกิดความล่าช้า เนื่องจากเป็นประเทศใหญ่และมีภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรส่วนมากจะเน่าเสียก่อนถึงมือผู้บริโภค ปริมาณกว่า 20-30%
ดร.นราธิป อ่ำเที่ยงตรง ที่ปรึกษาด้านการตลาด การขาย การบริการ และพัฒนาศักยภาพบุคลากร และองค์กร ภาครัฐและเอกชน ให้ข้อมูลว่า กลยุทธ์ในการเจาะการตลาดที่สำคัญ คือ การเปิดใจและเข้าใจตลาดที่กลุ่มลูกค้ามีความต้องการแตกต่างกัน ผู้ผลิตต้องพัฒนาสินค้าให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ และประเมินผลการตอบรับของตลาด ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ
ทั้งนี้ สำหรับในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค. - มิ.ย. 64) การส่งออกของไทยไป 18 ประเทศคู่ FTA มีมูลค่ากว่า 81,961.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึงร้อยละ 16.9 โดยไทยส่งออกไปจีนมูลค่ากว่า 18,289.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึงร้อยละ 24.9 และไทยนำเข้าจากจีนมูลค่า 31,486.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 31.8 ส่วนไทยส่งออกไปอินเดียมูลค่ากว่า 3,830.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวถึงร้อยละ 54.8 และไทยนำเข้าจากอินเดียมูลค่า 3,233.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 69.5