นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ว่า จีนและอินเดียเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพซึ่งมีประชากรมากเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงและนิยมสินค้าของไทย จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะสามารถส่งออกสินค้าเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับจีนและอินเดียเป็นประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ด้วย ซึ่งจะช่วยสร้างแต้มต่อและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยได้
โดยการจัดสัมมนาFTA นำเกษตรไทย ทะลุโควิด ตะลุยตลาดมังกรและแดนภารตะครั้งนี้ ได้นำทีมวิทยากรทั้งจากภาครัฐและเอกชนมาให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการด้านสินค้าเกษตร อาหาร และอาหารแปรรูปของไทย
ทั้งเรื่องกลยุทธ์การเจาะตลาดสินค้าเกษตรไปตลาดโลก การปรับปรุงและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคโควิด-19 แนวโน้มของตลาดจีนและอินเดีย และการใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA พร้อมทั้งได้แลกเปลี่ยนความเห็นและแนวคิดการสร้างความแตกต่างของสินค้าไทยและเทรนด์อาหารในอนาคต
ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ต้องการขยายตลาดสินค้าเกษตร อาหาร และอาหารแปรรูป จะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้เพื่อเตรียมความพร้อมส่งออกไปตลาดจีนและอินเดีย รวมทั้งใช้ประโยชน์จาก FTA สร้างแต้มต่อให้กับสินค้าเกษตรไทย ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงการรักษาคุณภาพมาตรฐานสินค้า และให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นโอกาสสร้างรายได้ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไทย ในช่วงสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ได้มากขึ้น
ปัจจุบันไทยมีความตกลงการค้าเสรีกับจีนและอินเดีย ได้แก่ FTA อาเซียน-จีน ไทย-อินเดีย และอาเซียน-อินเดีย ซึ่งส่งผลให้จีนและอินเดียได้ลดและยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกส่วนใหญ่จากไทยแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการไทยได้เปรียบเมื่อต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการจากประเทศอื่นในตลาดจีนและอินเดีย โดยนับตั้งแต่ปี 2548 ที่ไทยมี FTA กับจีน พบว่า การส่งออกของไทยไปจีนขยายตัวถึง 225% และนับตั้งแต่ปี 2547 ที่ไทยมี FTA กับอินเดีย พบว่า การส่งออกของไทยไปอินเดียขยายตัวถึง 500%
สำหรับในช่วง 5 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-พ.ค.) การส่งออกของไทยไป 18 ประเทศคู่ FTA มีมูลค่ากว่า 8,428 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 20% โดยไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปจีนมูลค่ากว่า 4,459 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 45% และไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปอินเดียมูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 84% สินค้าเกษตรของไทยที่ขยายตัวได้ดีในตลาดจีนและอินเดีย เช่น ผลไม้สด ผลไม้แช่เย็น ผลไม้แช่แข็ง ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เครื่องเทศ สมุนไพร ผลไม้กระป๋อง และผลไม้แปรรูป เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสการเติบโตของการค้าไทยที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ทั่วโลกจะเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตโควิด-19