200 บริษัทไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ ฝาก 3 ข้อการบ้านรัฐ ดันส่งออกทะยานต่อ

08 ส.ค. 2564 | 00:51 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ส.ค. 2564 | 08:23 น.

ในวิกฤติโควิด ประเทศไทยยังมีโอกาส ซึ่งขณะนี้การส่งออกน่าจะเป็นเครื่องยนต์ตัวเดียวที่ยังมองเห็นโอกาสในยามวิกฤติจากพิษโควิด-19 และถ้าไล่ย้อนกลับไปดูจะพบว่า 10 กลุ่มอุตสาหกรรมส่งออกยังมีบทบาทสำคัญต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม

200 บริษัทไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ ฝาก 3 ข้อการบ้านรัฐ ดันส่งออกทะยานต่อ

 

นางกนิษฐ์ เมืองกระจ่าง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกสมาคมอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคมไทย เผยผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” แทนสมาชิกราว 200 ราย ที่ยังมีความวิตกเรื่องการจัดหาวัคซีนให้แก่พนักงานในบริษัท รวมถึงความเคลื่อนไหวในการดำเนินธุรกิจที่มีทั้งกลุ่มทุนไทยและบริษัทข้ามชาติ ปัญหา-อุปสรรคการส่งออกที่น่าสนใจ

 

คาดส่งออกปีนี้โต15%

นางกนิษฐ์  กล่าวว่า ยอดส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ครึ่งแรกปี 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบปี 2563 โดยเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่งออก ม.ค.-มิ.ย.2564 มีมูลค่า 431,038  ล้านบาท ขยายตัว 26.27% อิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า 625,799 ล้านบาท ขยายตัว  16.38% คาดการณ์ส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปี 2564 น่าจะขยายสูงถึง 10-15%  เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งขณะนี้ตลาดส่งออกหลัก(กราฟิกประกอบ) ส่วนใหญ่มีคำสั่งซื้อเข้ามาล่วงหน้า 3-6 เดือน

 

200 บริษัทไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ ฝาก 3 ข้อการบ้านรัฐ ดันส่งออกทะยานต่อ

 

“การส่งออกขยายตัวสูงขึ้นในทุกตลาดสำคัญ สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวแข็งแกร่ง ตามการกลับมาเปิดประเทศของประเทศคู่ค้า จากการเร่งฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง”

 

 

จับตากลุ่มส่งออกดาวเด่น

สำหรับผลิตภัณฑ์ส่งออกหลักมียอดส่งออกขยายตัวดีในครึ่งแรกปี 2564 เมื่อเทียบกับปี 2563   ดังนี้

ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ  +25% เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ +17% ตู้เย็น ตู้แช่และส่วนประกอบ +31% แผงสวิทซ์แผงควบคุมกระแสไฟฟ้า +8% เตาอบไมโครเวฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน +44.5%

 

ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และชิ้นส่วน  +15% แผงวงจรไฟฟ้า +15% เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และอุปกรณ์ +10%  อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด  +1.8% หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ +39%

 อย่างไรก็ตาม นอกจากเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในประเทศแล้ว อยากให้รัฐบาลสนับสนุนและเอื้ออำนวยให้การส่งออกมีความคล่องตัว เช่น การแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในท่าเรือแหลมฉบัง  เป็นต้น

 

200 บริษัทไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ ฝาก 3 ข้อการบ้านรัฐ ดันส่งออกทะยานต่อ

 

นโยบายประเทศคู่ค้ามีข้อจำกัด

 ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ฯ กล่าวอีกว่า ในแง่การต่อรองสั่งซื้อในขณะนี้ประเด็นปัญหาส่วนใหญ่มิได้มาจากบริษัทคู่ค้า แต่ส่วนใหญ่มาจากนโยบายของประเทศคู่ค้า ซึ่งมีภาวะโควิด หลายประเทศต่างออกมาตรการป้องกันการนำเข้า (NTBs)  ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมในประเทศของตนเอง ซึ่งประเด็นนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทย

 

ท่าทีทุนข้ามชาติ

ส่วนปฏิกิริยาทุนต่างชาติในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ พบว่าบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ให้ความสำคัญในการเร่งหาวัคซีนเพื่อฉีดให้แก่พนักงาน โดยทางสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มีส่วนสำคัญในการประสานงานในการจัดหาและเร่งฉีดวัคซีน เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดติดเชื้อในโรงงาน ซึ่งจะกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและภาคการผลิตโดยรวม ในส่วนนี้สำคัญมากต้องรีบเร่งให้เร็วที่สุดรวมถึงในประชาชนทุกกลุ่ม

 

200 บริษัทไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ ฝาก 3 ข้อการบ้านรัฐ ดันส่งออกทะยานต่อ

 

“สถานะของโรงงานผลิตในปัจจุบัน ต้องบอกว่าสถานประกอบการหลายแห่งลดเวลาการทำงานล่วงเวลา (OT) และจัดให้มีการ Work  From Home (WFH) เพื่อลดการแพร่ระบาดและการติดเชื้อ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถผลิตได้เต็มกำลัง การผลิตอาจจะทำได้ประมาณ 50-70%

 

นอกจากนี้ยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะฝีมือ หรือช่างเทคนิค ซึ่งปัจจุบันทาง ส.อ.ท. ได้ร่วมมือกับทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร เพื่อเร่งพัฒนาบุคลากรในด้าน Digital และ Smart Electronics  เพื่อรองรับอุตสาหกรรม S-Curve

 

ปัจจุบันมีแรงงานในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมประมาณ 700,000 คน ทั้งนี้แรงงานยังไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงลดลง เนื่องจากสถานประกอบการยังคงรักษาการจ้างงาน และปฏิบัติตามระเบียบป้องกันโควิด-19 กันอย่างเคร่งครัด เพื่อยังคงให้การผลิตและการประกอบดำเนินการได้อย่างคล่องตัวและต่อเนื่องจึงมีความจำเป็นต้องรักษาพนักงานเดิมไว้

 

200 บริษัทไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์ ฝาก 3 ข้อการบ้านรัฐ ดันส่งออกทะยานต่อ

 

ฝาก 3 ข้อการบ้านรัฐบาล

 1.ปัจจุบันกลุ่มไฟฟ้าฯ ได้มีการพบปะหารือกับทางภาครัฐอย่างใกล้ชิด ในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การออกมาตรฐานบังคับผลิตภัณฑ์ มาตรการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนชิป  การแก้ไขปัญหาการส่งออกไปยังต่างประเทศ ฯลฯ ซึ่งภาครัฐได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างเร่งด่วน ซึ่งต้องขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

 

 2.การเร่งจัดหาวัคซีน ยารักษา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งรัฐบาลได้เร่งดำเนินการอยู่แล้วในขณะนี้ แต่อาจจะผ่อนคลายมาตรการหรือขั้นตอนการตรวจสอบ และการจัดหาอุปกรณ์ เพื่อให้ทันและเพียงพอต่อความต้องการที่มีเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน และ 3.ขอให้ภาครัฐและสถาบันการเงินมีการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่าให้กับผู้ประการที่ประสบปัญหา ควรผ่อนปรนเงื่อนไขการให้สินเชื่อ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่าอย่างแท้จริง

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,703 วันที่ 8 - 11 สิงหาคม พ.ศ. 2564