นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ยอดการลงทุน FDI ทั่วโลกในปี 2563 ปรับลดลงถึง 35% มาอยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่ำกว่าวิกฤติการเงินครั้งใหญ่เมื่อ 12 ปีก่อน และคาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวเป็นบวก 10-15% ในปีนี้ แต่ที่น่าสังเกตคือ ยอด FDI ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย เป็นภูมิภาคเดียวที่ยังขยายตัว โดยเพิ่มขึ้น 4% มาอยู่ที่ 5.35 แสนล้านดอลลาร์ แสดงถึงว่าเศรษฐกิจเอเชียมีความยืดหยุ่นสูง ปรับตัวรับวิกฤตได้ดี และยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมากในระยะยาว
สำหรับสถานการณ์การลงทุนในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่ผ่านมา เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น แม้ว่าจะมีบางสาขาที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด โดยเฉพาะภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว การบิน อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจการค้า แต่ขณะเดียวกันก็มีอุตสาหกรรมการผลิตอีกหลายสาขาที่ยังขยายตัวได้ดี เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า การแพทย์ ผลิตภัณฑ์ยาง พลังงาน ยานยนต์ ธุรกิจดิจิทัล อี-คอมเมิร์ซ และโลจิสติกส์ ทำให้ตัวเลขการลงทุนในภาพรวมยังเติบโตเป็นบวก
จากตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนของสภาพัฒน์ฯ ในไตรมาสแรก พลิกกลับมาบวก 3% เป็นครั้งแรก หลังจากติดลบต่อเนื่องมา 4 ไตรมาส ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต ล่าสุดในเดือน พ.ค. 2564 อยู่ที่ 65% ฟื้นตัวขึ้นชัดเจนเมื่อเทียบกับ 52% ในเดือน พ.ค. ปีที่แล้ว สอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าทุนในเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้น 28% การนำเข้าวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูป เพิ่มขึ้น 72% และการส่งออก บวกถึง 43% เป็นการขยายตัว 4 เดือนต่อเนื่อง และยังมีมูลค่าสูงกว่าช่วงก่อนโควิดอีกด้วย
สำหรับยอดการลงทุนของบีโอไอ ในช่วงไตรมาสแรก มีคำขอรับการส่งเสริม 401 โครงการ เพิ่มขึ้น 14% และเงินลงทุน 123,360 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 80% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) จำนวน 191 โครงการ เงินลงทุน 61,979 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 143% ประเทศที่ลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ จีนรวมฮ่องกง เกาหลี สิงคโปร์ นอร์เวย์ และญี่ปุ่น สาเหตุที่การลงทุนของเกาหลีและนอร์เวย์ ปรับสูงขึ้น เนื่องจากมีการร่วมทุนในโครงการขนาดใหญ่เพื่อผลิตถุงมือทางการแพทย์
อุตสาหกรรมที่ต่างชาติลงทุนมากและขยายตัวสูง เช่น อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และ Smart Devices รองลงมาก็เป็นยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรและอุปกรณ์
สำหรับในช่วงไตรมาสที่ 2 คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนยังขยายตัวต่อเนื่อง บีโอไอจะแถลงตัวเลขเป็นทางการในเร็ว ๆ นี้ โดยการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะจากญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา เนื่องจากตลาดโลกเริ่มฟื้นตัว การส่งออกเติบโตสูง อีกทั้งมีบริษัทจำนวนมากย้ายฐานการผลิตเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ตั้งแต่กลางปี 2561 จนถึงปัจจุบัน เข้ามาแล้วกว่า 230 โครงการ เงินลงทุนรวม 1.2 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่ตัดสินใจขยายการลงทุนในไทย เพื่อลดความเสี่ยงจาก Supply Chain Disruption เพราะประเทศไทยมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี และมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการตั้งฐานธุรกิจระยะยาว ขณะนี้ยังมีธุรกิจขนาดใหญ่อีกหลายกลุ่มที่เตรียมเข้ามาลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง เช่น รถยนต์ไฟฟ้า Smart Electronics, Cloud Service รวมทั้งธุรกิจในกลุ่ม BCG จึงคาดว่าตลอดทั้งปี 2564 จะมีคำขอรับการส่งเสริมไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท