กรมการขนส่งขนส่งทางราง (ขร.) ดำเนินการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-Map 2) โดยการศึกษาดังกล่าว เป็นการต่อยอดแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-MAP) ซึ่งกำหนดโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2553-2572) และนำแนวคิดจากแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP 2 Blueprint)
โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JICA (Japan International Cooperation Agency) มาพัฒนาต่อตามการเติบโตของเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยมีการขยายตัวออกไปในพื้นที่ชานเมืองมากขึ้น เกิดแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งพาณิชยกรรมตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก
ส่งผลให้รูปแบบการเดินทางของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเปลี่ยนไป โดยที่ผ่านมา JICA ได้ให้ข้อเสนอแนะใน M – MAP 2 Blueprint ว่าการวางแผนเพื่อกำหนดโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางใน M – MAP 2 สามารถตอบสนองต่อความต้องการเดินทางประชาชนได้อย่างแท้จริง รวมทั้งควรพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางขึ้นมาเฉพาะ เพื่อให้การวางแผนในการพัฒนาโครงข่าย M – MAP 2 สัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายได้อย่างแท้จริง
สำหรับการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 นี้ จะเป็นการทบทวนสถานะปัจจุบันของโครงการตาม M-MAP ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 159 กิโลเมตร
อยู่ระหว่างก่อสร้าง 167.74 กิโลเมตร และทำการประสานกับแผนงาน ความก้าวหน้าต่างๆ ของเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างรอดำเนินการอีก 14 โครงการ ระยะทางรวมประมาณ 182.26 กิโลเมตร รวมทั้งทบทวนโครงข่ายที่เสนอไว้ใน M-MAP 2 Blueprint และที่จะเสนอเพิ่มเติม โดยจะมีการพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง (Railway Demand Forecast Model) เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการพัฒนาโครงข่ายในแต่ละเส้นทาง ตามการขยายตัวและการพัฒนาเมืองในปัจจุบัน
ทั้งนี้ เมื่อการดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จ ขร. จะจัดลำดับความสำคัญของแต่ละเส้นทาง เพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน รวมทั้งแผนการเงินในการลงทุน กำหนดแนวทางและกลยุทธ์ในการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางให้ความครอบคลุมพื้นที่ที่มีความต้องการเดินทางสูงแต่โครงข่ายยังเข้าไม่ถึง
เพื่อบรรเทาการจราจรติดขัดในพื้นที่ศูนย์กลางเมืองกรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในภาพรวมของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด ลดความซ้ำซ้อน ลดการลงทุนและงบประมาณในโครงข่ายที่ไม่มีความจำเป็นในสภาวการณ์ปัจจุบันและสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาและแนวคิดการวางผังเมืองในอนาคต
เกิดการบูรณาการร่วมกันระหว่างโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตการเดินทางของประชาชนให้มีความรวดเร็ว สะดวก ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถส่วนบุคคลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป