แหล่งข่าว สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด (DMA) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทางสมาคมได้แจ้งสมาชิก ประกาศเพื่อทราบและปฎิบัติทันที เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในระยะนี้ค่อนข้างรุนแรงทั้งภายในประเทศไทยเอง และทางการจีนเริ่มประกาศว่ามีการติดเชื้อในกล่องทุเรียน
ดังนั้นทางสมาคมเห็นว่าควรให้สมาชิกเคลียร์งานในล้งให้จบภายในวันที่ 17 สิงหาคม 2564 (คือรับซื้อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 )เป็นวันสุดท้าย ทั้งหมดภายในวันที่ 18 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป อย่างไม่มีกำหนด จนกว่าสมาชิกสมาคมทุกล้งจะปลอดภัยจากเชื้อ "โควิด-19"
ทางสมาคมเห็นว่าเราต้องแสดงสปิริต หยุดเพื่อเคลียร์ล้งทั้งหมด ให้สะอาด ปลอดภัย กับผลผลิตที่จะส่งออกหรือจนกว่าสมาชิกทุกล้งจะได้รับการฉีดวัคซีนก่อนที่ทางจีนจะสั่งระงับการส่งออกทั้งหมด อย่างไรก่อนหน้านี้ทางสมาคมได้ทำหนังสือไปถึงรัฐบาลเพื่อขอให้แรงงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่ผลไม้ให้ได้รับการฉีดวัคซีน แต่วันนี้ก็ไม่ได้รับสักเข็มเลย
“วันนี้ทางสมาคมไม่เคยได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐเลย ทั้งที่ขอวัคซีนโควิดไปหลายรอบแล้ว แล้วก็ต้องยอมรับว่าล้งผลไม้เป็นแหล่งที่มีแรงงานทั้งคนไทยและต่างด้าวเป็นจำนวนมาก แล้วมาวันนี้ก็มาถึงจุดที่จะให้ล้งสมาชิกในสังกัดต้องแสดงสปิริต หยุดเพื่อเคลียล้งทั้งหมด จะรับซื้อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ตรงกับ "วันนี้" เป็น "วันสุดท้าย" แล้วทุกล้งจะหยุดอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 สิงหาคม เป็นต้นไป อย่างไม่มีกำหนด จนกว่าสมาชิกสมาคมทุกล้งจะปลอดภัยจากเชื้อ "โควิด-19"
นายวีรวัฒน์ จีรวงส์ นายกสมาคมชาวสวนไม้ผล จ.ชุมพร กล่าวว่า เป็นเรื่องจริง เกษตรกรก็เดือดร้อน แต่ถ้าหยุดชั่วคราว ให้ทำความสะอาดล้ง เคลียร์พื้นที่แล้วก็รุกหาคนที่ติดเชื้อโควิด โดยใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน แต่ถ้าหลายวันจะเดือดร้อนกันมาก ซึ่งความต้องการวัคซีนโควิด ก็เป็นความต้องการของสมาคมตั้งแต่ที่จะมีการย้ายล้งมาซื้อจากภาคตะวันออกลงมาภาคใต้แล้วทำเรื่องส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทำหนังสือไปถึงรัฐบาล ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง เป็นเรื่องเหนือวิสัยที่จะช่วยกันจริง
“ในวันพรุ่งนี้ ( 17 ส.ค.54) ทางประธานคณะกรรมการฝ่ายความมั่นคงด้านโควิด โดยนายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร จะเชิญนายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด มาพูดคุยหารือ แล้วเพื่อที่จะสื่อไปถึงรัฐบาลให้เห็นใจ และพยายามหาวัคซีนมาให้ได้ ปัจจุบันผลผลิต ทั้งมังคุดและทุเรียน ยังเหลืออีกประมาณ 20% สิ้นเดือนก็สิ้นสุดฤดูกาลแล้ว ต่อไปก็เป็นผลไม้นอกฤดู ดังนั้นปัญหาตรงนี้ต้องเคลียร์อยากให้จบก่อน เกษตรกรเดือดร้อนแน่นอน ถ้าจะหยุดซื้อโดยไม่มีกำหนด หวังว่าการเจรจาจะสำเร็จ”